ทำไม ! ศาลรธน. ปิดประตู ‘ก้าวไกล’ ตั้งธง ‘ยุบพรรค’ ไม่เปิดไต่สวน

ได้เวลานับถอยหลังคดียุบพรรคก้าวไกล ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมา ศาลฯได้ให้คู่กรณี คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองในฐานะผู้ร้อง กับ พรรคก้าวไกล (กก.) ผู้ถูกร้อง ได้ยื่นข้อมูล เอกสาร หลักฐาน ให้ศาลฯ ประกอบการพิจารณา

โดยข้อมูลของ กกต. ส่วนใหญ่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งปรากฏตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 คือ คดีที่พรรคก้าวไกล ยื่นแก้มาตรา 112 และ นำไปเป็นนโยบายพรรคระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ เข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ขณะที่ พรรคก้าวไกล คาดหวังว่า ศาลฯจะเปิดไต่สวน จึงได้เตรียมพยานปากสำคัญไว้ชี้แจง โดยเฉพาะ “ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์” อดีต อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับกกต.ด้วย

แต่ล่าสุด เมื่อ 17ก.ค. 67 หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุม ปรึกษาหารือกัน ก็มีความเห็นโดยสรุปว่า คดีนี้ เป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐาน เพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้แล้ว จึงยุติการไต่สวนตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยนัดลงมติตัดสินคดี ในวันที่ 7 ส.ค.67 และให้ คู่กรณี ส่งแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร ภายในวันที่ 24 ก.ค.67

นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้อง เห็นว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่ไม่เปิดให้ไต่สวน ในมุมมองของเราเห็นว่า ข้อเท็จจริงมีปัญหา ควรเปิดไต่สวนให้ถึงที่สุดก่อน ส่วนประเด็นปัญหา เรื่องข้อกฎหมาย เรายังมีความมั่นใจในข้อต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่เราต่อสู้ว่ากระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ พยานหลักฐานของ กกต. เป็นเครื่องตอกย้ำว่า กระบวนการยื่นคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร เรายังมั่นใจในข้อกฎหมายส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้สิ่งที่พรรคก้าวไกลทำได้ คือ เตรียมแถลงปิดคดี ภายใน 24 ก.ค.นี้ เพราะไม่มีการไต่สวนหน้าบัลลังก์ จึงไม่มีการแถลงปิดคดีด้วยวาจา แต่ให้ส่งเป็นเอกสารไป

ในเมื่อพรรคก้าวไกล เตรียมสู้ในข้อกฎหมาย ที่ว่ากระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แถมยังบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจยุบพรรค คือไม่สู้ในข้อเท็จจริงว่า การกระทำของพรรคก้าวไกล เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองหรือไม่

ทางด้านนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงอำนาจ และการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. เลขาฯกกต.และ นายทะเบียนพรรคการเมือง ต่อกรณีการยื่นยุบพรรคก้าวไกลว่า “เลขาฯกกต.” เป็นหัวหน้าหน่วยบริหารและธุรการของ กกต. เพื่อให้งานในหน้าที่และอำนาจของ กกต. สำเร็จตามที่กฎหมายกำหนด ปฏิบัติตาม กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และมติกกต. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการ กกต. ขึ้นตรงกับ กกต.

“นายทะเบียนพรรคการเมือง” เป็นคนคนเดียวกับเลขา กกต. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง กกต.ไม่ใช่หัวหน้านายทะเบียนพรรคการเมือง และนายทะเบียนพรรคการเมือง ไม่ได้ตรงขึ้นตรงกับกกต. ต่างคนต่างเป็นอิสระ ต่างทำหน้าที่ตามที่กฎหมายให้ทำเท่านั้น ไม่มีความสัมพันธ์กันในเชิงการบริหาร หรือ ธุรการแต่อย่างใด

การทำงาน ความสัมพันธ์ กกต.และ เลขาฯกกต. “ทำงานร่วมกัน” ในทุกเรื่องเกี่ยวกับงานของ กกต. เพื่อเป้าหมายของงานในหน้าที่และความรับผิดชอบ ของกกต. ให้บรรลุผลสำเร็จ ตามฐานานุรูป ในตำแหน่งที่ดำรงอยู่ กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมือง “ต่างคนต่างทำงาน” ไม่ขึ้นต่อกัน งานจะสัมพันธ์กัน ก็ต่อเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองให้ต้องสัมพันธ์กัน กกต. จะมีมติให้ทำนายทะเบียนทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ได้

ตัวอย่างการทำงาน กกต.และ เลขาฯกกต. อาทิ การเลือกตั้ง ส.ส. เลือกตั้งท้องถิ่นทุกประเภท งานประชามติ ฯลฯ กกต. เป็นผู้ออกระเบียบ ประกาศ ให้เลขาฯ ปฏิบัติ มีมติ ให้เลขาฯ ไปดำเนินการในงานข้างต้นได้ทุกเรื่อง เพื่อผลสำเร็จของงาน
กกต. และ นายทะเบียนพรรคการเมือง อาทิ การเสนอให้ยุบพรรคการเมือง กกต. ก็มีอำนาจเสนอให้ยุบพรรคโดยลำพังตาม มาตรา 92 แต่จะมามีมติ หรือสั่งให้นายทะเบียน พิจารณาดำเนินการเสนอยุบพรรค ตามมาตรา 93 ไม่ได้ เพราะมาตรา 93 เป็นอำนาจเฉพาะของนายทะเบียนพรรคการเมือง

“ดังนั้น การเสนอให้ยุบพรรคตาม มาตรา 92 หรือ 93 จึงไม่ใช่ทางเลือก หรือดุลยพินิจที่ กกต.จะเลือกเพื่อเสนอให้ยุบพรรคการเมือง ว่าจะใช้มาตราใด สำหรับพรรคใด แต่เป็นบทกฎหมายที่ให้อำนาจเสนอยุบพรรค แก่ 2 องค์กร คือ กกต. หรือ นายทะเบียนพรรคการเมือง และแต่ละองค์กรก็เป็นอิสระต่อกัน”

ด้วยข้อกฎหมาย เหตุผลข้างต้น ทั้งหลายทั้งปวง จึงเป็นเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งสิ้น ไม่ใช่เรื่องมาตรฐานหรือไม่มีมาตรฐาน แต่ประการใด

นั่นเป็นการกางข้อกฎหมายมายืนยันว่า เลขาฯกกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง มีอำนาจ หน้าที่ในการยื่นยุบพรรคได้ จะว่าไปแล้ว เรื่องยุบพรรคนี้ บรรดาแกนนำ และ สส.พรรคก้าวไกล ทำใจมานานแล้วว่าคงไม่แคล้วแน่ๆ ถึงกับไปเตรียมพรรคสำรองไว้แล้ว แต่ที่พยายามขอให้เปิดการไต่สวน ก็แค่เป็นการยื้อเวลา เพื่อขยายผลในทางการเมืองเท่านั้น และเมื่อศาลฯ ไม่เปิดไต่สวนก็จะมีข้ออ้างออกมาโจมตีได้ว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างที่ควรจะเป็น

สุดท้าย สัญญาณที่ศาลรัฐธรรมนูญ ส่งออกมาว่า ตอนนี้กำลังพิจารณา “ข้อกฎหมาย” ส่วน “ข้อเท็จจริง” นั้นไม่สงสัยอะไรแล้ว จึงต้องติดตามว่า วันชี้ชะตา 7 ส.ค.นี้ ที่ตรงกับวันพุธ ซึ่งโบราณว่าไม่ค่อยเหมาะที่จะทำเรื่องดีๆ แม้กระทั่งปลูกต้นไม้ยังไม่ทำกัน เพราะ “วันพุธ หัวกุดท้ายเน่า” ก็รอดูวันนั้น พลพรรคก้าวไกลจะได้เฮ… หรือได้ ร้อง ฮือ ฮือ !!

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password