กกต.รับรองผลเลือก สว.ทางการ 200 คน สอย 1 คน พึ่ง 3 หน่วยงานสอบขบวนการฮั้ว

เป็นทางการ! ‘แสวง’ แถลงผลมติ กกต.รับรองผลเลือก สว. 2567 สอย 1 คนคือ ‘คอดียะฮ์ ทรงงาม’ เหตุพบเป็นที่ปรึกษานายก อบจ.อ่างทอง ทำให้ต้องเลื่อนบัญชีสำรองขึ้นมา ให้ตัวจริงครบ 200 คนเพื่อเปิดสภาฯ คงเหลือตัวสำรอง 99 คน พึ่ง ตร.-ดีเอไอ-ปปง.สอบขบวนการฮั้ว

วันที่ 10 ก.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงผลที่ประชุม กกต.มีมติรับรองผลการเลือก สว. 2567 ว่า เงื่อนไขตามกฎหมายตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. หาก กกต.เห็นว่า การเลือกเป็นไปโดยถูกต้อง หรือความชอบ ความควรตามกฎหมาย สุจริต ก็คือการกระทำที่ไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เที่ยงธรรม ก็คือการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย 3 เงื่อนไขนี้ กกต.จึงจะประกาศผลการเลือกได้ สิ่งที่จะพิจารณาเป็นไปตามเงื่อนไขคือ มีการกระทำผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. หรือไม่ ซึ่งสำนักงาน กกต.เป็นหน่วยงานธุรการของ กกต. จึงรวบรวมกลุ่มความผิดที่อาจทำให้การพิจารณาที่มาใช้เป็นเงื่อนไขการประกาศผล สว.ครั้งนี้ แบ่งเป็น กลุ่มแรกคือ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม หมายถึงการสมัครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กลุ่มสอง กระบวนการเลือกคือกระบวนการเลือกตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ กลุ่มสาม ความไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ที่สังคมใช้คำว่า จัดตั้ง บล็อกโหวต หรือฮั้ว นี่คือ 3 กลุ่มความผิดที่สำนักงาน กกต.ได้จัดกลุ่ม

นายแสวง กล่าวว่า กรณีผู้สมัครรับเลือก สว. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ข้อมูลพื้นฐานที่จะพิจารณาเรื่องนี้ มีผู้สมัครสนใจมาสมัครช่วงเปิดสมัคร 5 วัน 48,117 คน ผอ.ระดับอำเภอ ไม่รับสมัครจำนวน 1,917 คน นั่นหมายความว่าได้ตรวจสอบเบื้องต้น และเมื่อ ผอ.รับสมัครไปแล้ว ท่านได้ลบชื่อก่อนมีการเลือกระดับอำเภอ 526 คน ต่อมาในชั้นจังหวัด ผอ.จังหวัด ได้ลบผู้มีสิทธิเลือกไปอีก 87 คน ต่อมาระดับประเทศ ผอ.ระดับประเทศ ได้ลบอีก 5 คน ที่บอกว่า กกต.ไม่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม จึงอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง สรุปแล้วเราได้ตรวจสอบ และคัดคนที่ไม่มีคุณสมบัติออกไปเกือบ 3 พันคน

นายแสวง กล่าวอีกว่า กกต.ได้มีมติให้ใบส้ม คุณสมบัติตามมาตรา 20 วรรคสาม วรรคสี่ คือระงับสิทธิสมัครชั่วคราว จำนวน 89 ใบ เฉพาะเรื่องคุณสมบัติตามมาตรา 20 วรรคสาม วรรคสี่ รวมทั้งส่งให้ศาลฎีกาพิจารณาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และอีก 1 คน ที่พิจารณาคือ ตามมาตรา 60 เพราะหลังกระบวนการเลือกแล้ว ที่ให้เพราะว่าผู้มีสิทธิเลือกเหล่านี้ ทำให้การเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ในส่วนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งระดับอำเภอ ที่ลบชื่อไป 526 คน จะไม่มีคำสั่งให้ใบส้ม เพราะยังไม่เข้ามาในระบบ แต่ว่าทุกคนที่ถูกลบชื่อ จะถูกพิจารณาว่า รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิแล้วไปสมัครรับเลือกหรือไม่ ซึ่งเป็นคดีอาญา เป็นคนละส่วนกัน

เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า สำหรับเรื่องร้องเรียนที่เคยบอกว่ามี 65% นี่คือเรื่องเหล่านี้ อยู่ใน 65% ที่ร้องเรียนทั้งหมดด้วย เป็นกรณีความปรากฏ เราไปรวมเรื่องร้องเรียนด้วย โดยแบ่งเป็น ผู้สมัครมาร้องเอง ความปรากฏต่อเรา และเราลบชื่อ ทำให้เรื่องร้องเรียนที่เคยบอกครั้งแรกว่ามี 600 กว่าเรื่อง เป็นเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด และทุกวันนี้มีเรื่องร้องเรียนรวม 800 กว่าเรื่อง ทำให้ตอนนี้เหลือเรื่องร้องเรียนเหลือ 200 กว่าเรื่อง ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด มาระดับประเทศ

ในส่วนคุณสมบัติผู้สมัครและลักษณะต้องห้ามนั้น นายแสวง กล่าวว่า เราได้ตรวจสอบทุกคน ไม่ว่าจะเป็น 200 หรือตัวสำรอง 100 หรือผู้สมัครระดับอำเภอหรือจังหวัด อยากให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสมัครในกลุ่มที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่า คนแบบนี้ไปอยู่กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องของสำนักงานฯ ระดับอำเภอ ได้ให้ซักซ้อมข้อกฎหมายแต่ต้นว่า สังคมอาจเข้าใจไม่ตรงมาก เพราะว่าเวลาพูดถึงคือกลุ่มอาชีพ แต่ตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.เลือก สว. ไม่มีกลุ่มอาชีพ เป็นกลุ่มของด้าน 20 ด้าน ในด้านมีอาชีพเป็นส่วนหนึ่งของคนประเภทหนึ่งที่จะอยู่ในด้านนั้น ในแต่ละกลุ่มของด้าน มีคนแต่ละประเภทสมัครได้ ไม่ใช่อาชีพอย่างเดียว เช่น ความรู้ในด้านนั้น ความเชี่ยวชาญในด้านนั้น อาชีพในด้านนั้น ประสบการณ์ในด้านนั้น มีลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานร่วมกัน คน 6 ประเภทสามารถเข้าไปอยู่ในด้านต่าง ๆ ได้ อาชีพเป็นเพียงประเภทหนึ่งในกลุ่มนั้นเท่านั้น กฎหมายเปิดกว้างให้ประชาชนชาวไทยมีโอกาสที่จะสมัครรับเลือก สว.อยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้อย่างกว้างขวาง โดยมีผู้รับรอง 1 คน ซึ่ง กกต.ตรวจสอบไปแล้ว

เลขาธิการ กกต.กล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มความผิดเรื่องการดำเนินการในวันเลือก คือระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ มีสำนวนที่มาร้องที่เรา 3 สำนวน ได้พิจารณาจบแล้ว สำนวนไปร้องที่ศาลฎีกา 18 คดี เป็นไปตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.ป.เลือก สว. โดยศาลฎีกาได้ยกคำร้องทุกคดีแล้ว

ส่วนการร้องเรียนประเด็นเลือกโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมนั้น นายแสวง กล่าวว่า ตอนนี้มี 47 เรื่อง เช่น ที่สังคมเรียกว่าฮั้ว บล็อกโหวต จัดตั้ง ในส่วนนี้สำนักงาน กกต.ได้รวบรวมพยานหลักฐานมาพอสมควรแล้ว ลักษณะที่รวบรวมมามีเป็นขบวนการ ต้องใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาพิจารณา สำนักงาน กกต.ได้ขอความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) 10 คน และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) 10 คน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) 3 คน ทั้งหมดเป็นระดับผู้บังคับบัญชา ประสานงานกันมาตลอดสัปดาห์หนึ่งแล้ว เป็นความร่วมมือที่สำนักงาน กกต.ขอใช้เครื่องมือ เพื่อเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อหาคนอยู่เบื้องหลังว่าจะไปได้ถึงไหน อย่างไร เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาว่าเกิดการกระทำให้การเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริต

“เมื่อดำเนินการมาถึงขั้นนี้จะเห็นว่า ถามว่าการเลือกถูกต้องหรือไม่ เราจะพิจารณาจากกระบวนการเลือกในวันเลือกคือ 9 16 และ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทุกคดีได้จบไปหมดแล้ว ผู้สมัครไปร้องศาลฎีกา 18 คดีก็จบไปแล้ว นั่นคือไม่มีคดีคั่งค้างที่ศาลฎีกาอีกแล้ว นั่นถือว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยชอบ” เลขาธิการ กกต.กล่าว

เลขาธิการ กกต.กล่าวด้วยว่า ในส่วนความไม่สุจริต คือความชอบตามกฎหมาย เมื่อมีคำร้องสำนักงาน กกต.ได้รับเป็นสำนวนไว้แล้ว ขณะนี้ได้รวบรวมพยานหลักฐานไว้ตามสมควร ข้อมูล ณ วันนี้ยังไม่พอเพียงที่จะบอกว่าเขากระทำความผิด สำนักงาน กกต.ต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นนี้ จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม เพราะการนำหลักฐานไปยื่นกับศาลฎีกา กฎหมายบอกว่า ต้องมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริต สำนักงาน กกต.ต้องพิจารณารวบรวมพยานหลักฐานที่เรามีอยู่มาเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อยุติ เพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรม คือการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ฝ่ายผู้ร้อง หรือผู้ถูกร้อง เมื่อดำเนินการตามระเบียบสืบสวน หรือไต่สวน ต้องให้โอกาสเขาพิสูจน์ข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริง มีโอกาสแก้ข้อกล่าวหา ให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย นี่คือความเที่ยงธรรมที่ทุกฝ่ายจะได้รับจาก กกต.

“ด้วยเหตุดังกล่าว ณ วันนี้ กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่า การเลือก สว.2567 เป็นไปด้วยความถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม จึงมีมติประกาศผลการเลือก สว. ของแต่ละกลุ่ม โดยทั้ง 20 กลุ่ม ลำดับที่ 1-10 ของแต่ละกลุ่มเป็น สว. ส่วนลำดับที่ 11-15 ของแต่ละกลุ่ม เป็นบัญชีสำรอง ยกเว้นกลุ่มที่ 18 ซึ่ง กกต.ได้ระงับสิทธิชั่วคราวของผู้ได้รับเลือกเป็น สว. ที่อยู่ในลำดับที่ 1-10 จึงต้องเลื่อนลำดับที่ 11 ตามระเบียบของ กกต.ฉบับที่ 3 ขึ้นไปอยู่ในลำดับที่ 10 แทน” นายแสวง กล่าว

นายแสวง กล่าวด้วยว่า สรุปแล้วก็คือ กกต.มีมติเห็นชอบให้ประกาศผู้ได้รับคะแนนจำนวน 200 คน เพื่อให้เปิดสภาฯได้ ส่วนที่สำรองมี 99 คน เพราะกลุ่ม 18 เหลือสำรองอยู่ 4 คน โดยผู้ที่ได้รับประกาศทั้ง 200 คน ให้มารับหนังสือรับรองการได้รับเลือกเป็น สว. เพื่อเป็นหลักฐานในการรายงานตัวกับสำนักเลขาธิการวุฒิสภา 2 วัน ในวันที่ 11-12 ก.ค. 2567 เวลา 08.30-16.30 น.

รายงานข่าวแจ้งว่า บุคคลที่ถูก กกต.ระงับสิทธิชั่วคราวหรือแจก “ใบส้ม” คือ น.ส.คอดียะฮ์ ทรงงาม ผู้ได้รับเลือกเป็น สว.อ่างทอง ลำดับที่ 4 กลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน โดยระบุในประวัติการทำงานว่า ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายหมู่บ้าน เป็นประชาสัมพันธ์อำเภอไชโย อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบพบว่า น.ส.คอดียะฮ์ เป็นที่ปรึกษา นายก อบจ.อ่างทอง จึงถูกระงับสิทธิชั่วคราว

ทำให้เลื่อนว่าที่ พ.ต.กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์ ผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ลำดับที่ 11 ซึ่งอยู่ในบัญชีสำรองเลื่อนขึ้นมาอยู่ในบัญชีตัวจริงลำดับ 10 โดยว่าที่ พ.ต.กรพด เป็นอดีตประธานรุ่น 5 หลักสูตรพัฒนาสัมพันธ์เครือข่ายความมั่นคงระดับผู้บริหาร (พคบ.) ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มาแทน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password