‘บิ๊กเกรียง-มงคล’ มาแรงชิง ปธ.วุฒิสภา ด้านสนง.เลขาฯ พร้อมรับรายงานตัว ส.ว.ชุดใหม่

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เตรียมพร้อมสถานที่รับรายงานตัว 200 ส.ว. แล้ว ขณะที่ “บิ๊กเกรียง-มงคล สุระสัจจะ” มาแรงแคนดิเดตนั่งเก้าอี้ประธานวุฒิสภา

วันที่ 5 ก.ค.2567 ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาคำร้องของผู้สมัคร ส.ว. ในการเลือกส.ว.ที่ผ่านมา ก่อนประกาศรับรองผู้ได้รับเลือกทั้ง 200 คน ในช่วงสัปดาห์หน้า โดยหลังจากกกต. ประกาศรับรอง 200 ส.ว. และ บัญชีสำรอง 100 คน และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ ส.ว.ทั้ง 200 คน ต้องมารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อรับบัตรประจำตัวของการเป็น ส.ว. รวมถึงเอกสารและคู่มือการปฏิบัติหน้าที่เป็นส.ว.

ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้จัดเตรียมสถานที่ไว้รองรับการเข้ารายงานตัวของ 200 ส.ว.ชุดใหม่แล้ว ที่ห้องริมน้ำ ชั้น 1 อาคารวุฒิสภา และพร้อมรับการรายงานตัวได้ในวันถัดไปจากที่ กกต. ประกาศรับรอง ทั้งนี้ในการจัดเตรียมห้องรับรายงานตัว รวมถึงห้องรับรอง ส.ว.ชุดใหม่นั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ทางสำนักงานเลขาธิการ นำป้าย “ห้ามเข้า” ติดไว้ที่ประตูทางเข้าเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่

โดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะเปิดรับรายงานตัว ประมาณ 1 สัปดาห์ หรือ จนกว่า ส.ว.จะเข้ารายงานตัวจนครบ 200 คน จากนั้นจะนัดประชุมวุฒิสภานัดแรก เพื่อให้ส.ว. 200 คนกล่าวคำปฏิญาณตนต่อที่ประชุม ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ และจะเป็นวาระการเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา ซึ่งมีผู้ที่คาดว่าจะเป็นแคนดิเดตประธานวุฒิสภา 2 รายคือ “บิ๊กเกรียง” พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่4 และ นายมงคล สุระสัจจะ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง ในฐานะว่าที่ส.ว.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง

นอกจากนี้อาจมีประเด็นที่เป็นข้อหารือที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภารายงานเป็นวาระสำคัญ เช่น การตั้งกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ที่ส.ว.ชุดที่ผ่านมาได้ ตั้งคณะทำงานไว้แล้ว เพื่อให้เกิดการทำงานที่สานต่อและต่อเนื่อง รวมถึงการตั้งกรรมการเพื่อศึกษาร่างกฎหมายที่เป็นคู่ขนานกับ สภาฯ เช่น ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ส.ว.ชุดใหม่ 200 คนนั้น นับเป็นส.ว.ชุดที่ 13 ของการเมืองไทย มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ กกต. ประกาศผลการเลือกในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ต้องจับตาการทำงานของ ส.ว.ชุดใหม่ ที่ถูกมองว่ามาจากสายบ้านใหญ่ ที่เป็นเครือข่ายนักการเมือง อย่างไรก็ตามในมาตรา 113 ของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ด้วยว่า สว.ต้องไม่ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password