“สุริยะ” ไล่บี้ผู้รับเหมาติดสปีด “ถนนเจ็ดชั่วโคตร” ลุยตรวจ 4 มี.ค.นี้ “สามารถ” แนะแนวทางแก้

“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” เรียกผู้รับเหมาเร่ง “ถนนพระราม2” ขู่ลงโทษสูงสุดไม่ให้ประมูลงาน ขืนล่าช้าเกินกำหนดปี 68 ลงพื้นที่ตรวจเอง 4 มี.ค.นี้ “สามารถ” ชำแหละ ปมก่อสร้างล่าช้า เพราะ สร้างทางด่วน มอเตอร์เวย์ พร้อมกันทำล่าช้า พร้อมกัน เสนอแนวทางแก้ไข 4 ประเด็น

1 มี.ค. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีสื่อโซเชียลมีเดียทำคลิปล้อเลียนปม สร้างถนนพระราม 2 ล่าช้า แม้กระทรวงคมนาคมจะประกาศคืนพื้นที่ให้ได้ก่อนเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ จนมีคำถามว่าจะสามารถคืนได้จริงหรือไม่ ว่า วันนี้จะเชิญผู้รับเหมาก่อนสร้างที่ก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ถนนพระราม 2 ซึ่งตามกำหนดการต้องสร้างเสร็จภายในปี 2568 เพื่อมายืนยันให้เสร็จจริง เพราะขณะนี้มีความล่าช้าไปจากกำหนดการเดิมที่ทางกรมบัญชีกลางได้เลื่อนให้ เพราะติดเรื่องสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 วันนี้คิดว่าต้องมีการพูดจากันอย่างตรงไปตรงมา และต้องขอความร่วมมือ

“สิ่งนึงที่ผมคิดว่าจะเป็นไม้ตายของกระทรวงคมนาคม คือเราจะมีสมุดพกที่ดูว่าถ้าเขาทำไม่ได้ตามเป้าหมาย เราจะไปประสานกับกรมบัญชีกลาง ท่านนายกรัฐมนตรีได้พูดแล้วว่า ถ้าทำไม่ได้ต่อไปจะมีการลดระดับ จากผู้รับเหมาชั้นพิเศษลงมาเป็นผู้รับเหมาชั้นหนึ่ง ทำให้เขาไม่สามารถรับงานใหญ่ๆ ได้ และอีกอย่างอาจมีสิ่งที่รุนแรงกว่านั้น คืออาจจะไม่ให้เขาประมูลในโครงการใหม่ๆ ของกระทรวงคมนาคมเลย” นายสุริยะ ระบุ

รมว.คมนาคม กล่าวว่า วันจันทร์ที่ 4 มีนาคมนี้ ตนจะลงพื้นที่ไปตรวจสภาพข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง ทั้งเรื่องการสร้างให้ตรงเวลา และเรื่องความปลอดภัย ซึ่งในขณะนี้เริ่มมีการยกคานขึ้นไปในที่สูง ตรงนี้ก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาควบคุมดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน

เมื่อถามว่า ระยะเวลาได้ขยายไปถึงปี 2568 เลยหรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า ถูกครับ เพราะเกิดผลกระทบมาจากช่วงโควิด-19 และย้ำว่าปี 2568 เป็นปีสุดท้ายต้องเปิดให้ได้ ส่วนที่ระบุว่าจะคืนพื้นที่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้ได้นั้น หมายถึงขณะนี้มีการก่อสร้างก็จะต้องไปคืนพื้นที่เพื่อให้เดินทางได้สะดวก

เมื่อถามย้ำว่า มีโอกาสจะเสร็จเร็วกว่ากำหนดการเดิมหรือไม่ เพราะสร้างมานานแล้ว นายสุริยะ กล่าวว่า ตนคิดว่าถนนพระราม 2 เป็นถนนที่ชาวบ้านเรียกว่า “ถนนเจ็ดชั่วโคตร” แต่ตนคิดว่าเป็นอดีตที่ผ่านมา และไม่อยากจะไปโทษรัฐบาลไหน แต่เมื่อผมเข้ามารับตำแหน่งแล้วปัญหาต่างๆ ที่กำหนดไว้ตามระยะเวลาก็จะต้องทำตามได้ ก่อนปฏิเสธว่าไม่ได้ลงพื้นที่พร้อมนายกรัฐมนตรี เพราะท่านติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ.

ทางด้าน นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ – Dr.Samart Ratchapolsitte” ชำแหละการก่อสร้างถนนพระราม 2 ที่ล่าช้า เปรียบเทียบกับ ถนนเทพรัตน์ หรือ ถนนบางนา-ตราด ซึ่งมีสภาพดินคล้ายกัน แต่กลับไม่มีปํญหาเหมือน ถนนพระราม 2 มีรายละเอียดดังนี้

ถนนพระราม 2 รอแล้วรอแล้ว…รอไม่สิ้น การก่อสร้างถนนพระราม 2 ดำเนินมาอย่างยาวนาน สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนจำนวนมาก ทั้งผู้อยู่อาศัย ผู้ทำมาค้าขาย 2 ข้างทาง และผู้สัญจรผ่านไปมา ไม่เฉพาะแต่ทำให้รถติด แต่อุบัติเหตุถึงแก่ชีวิตก็เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งหลายหน จนผู้คนหวาดผวาที่จะสัญจรผ่านเส้นทางนี้

ถึงเวลานี้ บนถนนพระราม 2 ยังมีการก่อสร้างอีก 3 โครงการ ทั้งหมดเป็นการก่อสร้างเหนือระดับพื้นดิน ระยะทางรวม 43.4 กม. ประกอบด้วย ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. เป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

ทางยกระดับช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทาง 8.3 กม. มอเตอร์เวย์หมายเลข 82 ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กม. ทั้งทางยกระดับและมอเตอร์เวย์เป็นของกรมทางหลวง เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้รับผิดชอบให้คำมั่นสัญญาว่าทั้ง 3 โครงการดังกล่าวจะเปิดใช้ได้ในปี 2568

แต่อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ยังไม่สิ้นสุดเพียงแค่นี้ เพราะยังจะมีการขยายมอเตอร์เวย์หมายเลข 82 จากบ้านแพ้วไปจนถึงแยกวังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ระยะทาง 47.4 กม. ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ก็ไม่รู้ว่าจะทำให้รถติดอย่างสาหัสสากรรจ์อีกหรือไม่

เมื่อเปรียบเทียบการก่อสร้างถนนพระราม 2 กับการก่อสร้างถนนบางนา-ตราด (ปัจจุบันชื่อถนนเทพรัตน) ซึ่งเป็นถนนสายสำคัญสู่ภาคตะวันออก เป็นของกรมทางหลวง พบว่าการก่อสร้างถนนเทพรัตนไม่ยาวนานยืดเยื้อดังเช่นถนนพระราม 2 ทั้งๆ ที่มีระยะเวลาเริ่มก่อสร้าง ปัญหาคุณภาพดิน รูปแบบถนน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่แตกต่างจากถนนพระราม 2 เลย

กล่าวคือถนนเทพรัตนเริ่มก่อสร้างประมาณปี 2510 เปิดใช้ครั้งแรกในปี 2512 เป็นถนน 2 เลน ในขณะที่ถนนพระราม 2 เริ่มก่อสร้างในปี 2513 เปิดใช้ในปี 2516 เป็นถนน 2 เลนเช่นเดียวกัน ถนนทั้ง 2 เส้นนี้ ได้รับการขยายเป็นถนนหลายเลน แต่การขยายถนนเทพรัตนไม่ยืดเยื้อ และไม่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้พี่น้องประชาชนเหมือนกับถนนพระราม 2 ถนนเทพรัตนมีดินรองถนนเป็นดินอ่อนเช่นเดียวกับถนนพระราม 2 แต่ไม่ได้ทำให้การก่อสร้างล่าช้า ยืดเยื้อ

บนถนนเทพรัตนมีทางด่วนบูรพาวิถี (ทางด่วนกรุงเทพฯ-ชลบุรี) ของการทางพิเศษฯ ระยะทาง 55 กม. เช่นเดียวกับบนถนนพระราม 2 ที่มีการก่อสร้างทางด่วน ทางยกระดับ และมอเตอร์เวย์ ระยะทางรวม 43.4 กม. ในระหว่างการก่อสร้างทางด่วนบูรพาวิถีในช่วงปี 2538-2543 ไม่ได้ทำให้รถติดหนักเหมือนการก่อสร้างทางด่วน ทางยกระดับ และมอเตอร์เวย์บนถนนพระราม 2

การก่อสร้างทางด่วนบูรพาวิถีดำเนินไปได้อย่างอย่างรวดเร็ว สามารถทยอยเปิดใช้บางส่วนได้ตั้งแต่ปี 2541 ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะในระหว่างการก่อสร้างมีการเปิดใช้มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ช่วงกรุงเทพฯ -ชลบุรี แล้ว ทำให้สามารถใช้มอเตอร์เวย์เป็นเส้นทางหลีกเลี่ยงการใช้ถนนเทพรัตนได้

จากการเปรียบเทียบการก่อสร้างถนนเทพรัตนกับถนนพระราม 2 พบว่า สาเหตุที่ทำให้การก่อสร้างถนนพระราม 2 ล่าช้ายืดเยื้อ มีดังนี้

(1) การขยายถนนพระราม 2 บางช่วง กับการก่อสร้างทางด่วน ทางยกระดับ และมอเตอร์เวย์บนถนนพระราม 2 อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้ต้องใช้พื้นที่ในการก่อสร้างมาก ส่งผลให้รถติด ต่างกับการก่อสร้างทางด่วนบูรพาวิถีบนถนนเทพรัตน ที่ก่อสร้างหลังจากมีการขยายถนนเทพรัตนเสร็จแล้ว

(2) การขยายถนนพระราม 2 บางช่วง กับการก่อสร้างทางด่วน ทางยกระดับ และมอเตอร์เวย์บนถนนพระราม 2 เพิ่งมาดำเนินการในช่วงที่มีปริมาณรถบนถนนพระราม 2 สูงมากแล้ว ต่างกับการขยายถนนเทพรัตนและการก่อสร้างทางด่วนบูรพาวิถี ที่ได้ดำเนินการมานานเกือบ 30 ปีแล้ว ในขณะที่มีรถไม่มากนัก

(3) ในขณะขยายถนนพระราม 2 พร้อมทั้งก่อสร้างทางด่วน ทางยกระดับ และมอเตอร์เวย์บนถนนพระราม 2 ไม่มีเส้นทางอื่นที่เหมาะสมที่จะเลี่ยงการใช้ถนนพระราม 2 ได้ ต่างกับในระหว่างการก่อสร้างทางด่วนบูรพาวิถีบนถนนเทพรัตน มีการเปิดใช้มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี แล้ว ทำให้รถเลี่ยงถนนเทพรัตนไปใช้มอเตอร์เวย์แทนได้ ด้วยเหตุนี้ การขยายถนนพระราม 2 พร้อมการก่อสร้างถนนลอยฟ้าบนถนนพระราม 2 ในอนาคต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรคำนึงถึงข้อแนะนำ ดังนี้

(1) การขยายถนนพระราม 2 พร้อมกับการก่อสร้างถนนลอยฟ้าบนถนนพระราม 2 ไม่ควรทำในเวลาเดียวกัน เพื่อลดพื้นที่ก่อสร้าง ไม่ใช้ผิวจราจรมากเกินไป

(2) กรมทางหลวงควรพิจารณาหาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการขยายถนนพระราม 2 พร้อมทั้งก่อสร้างถนนลอยฟ้าบนถนนพระราม 2 อย่ารอจนมีปริมาณรถสูงมากแล้

(3) กรมทางหลวงควรพิจารณาเร่งก่อสร้างมอเตอร์เวย์หมายเลข 8 นครปฐม-นราธิวาส (ด่านสุไหงโกลก) เพื่อเป็นทางเลือกการสัญจรสู่ภาคใต้

(4) ผู้เกี่ยวข้องควรกำกับดูแลการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด พร้อมแก้ปัญหาต่างๆ นานา โดยเฉพาะการจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับพื้นที่ที่มีรถมากแต่มีผิวจราจรน้อย หากผู้เกี่ยวข้องไปสอดส่องดูแลการก่อสร้างอยู่เป็นประจำ การก่อสร้างจะดำเนินไปได้เร็วขึ้น การคืนผิวจราจรก็จะเร็วตามขึ้นด้วย

ทั้งหมดนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และผู้สัญจรบนถนนพระราม 2 ทุกคนครับ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password