“สว.สถิตย์” ชูธงหนุน “EXIM BANK” เสริมเขี้ยวเล็บ SME ไทยไปเวทีโลก

“สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์” หนุน “เอ็กซิมแบงก์”เสริมเขี้ยวเล็บ เอสเอ็มอี ไทยไปเวทีโลก พร้อมแนะ ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์-เศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ควรประเมินความสำเร็จ หรือ ยึดตัวชี้วัด เชิงพาณิชย์

วันที่ 9 ม.ค.2567 ที่ รัฐสภา นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา และ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง อภิปรายตอนหนึ่งระหว่า งการประชุมวุฒิสภาเกี่ยวกับ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ว่า ธนาคารนี้ ก่อตั้งเมื่อปี 2536 เพื่อให้บริการทางการเงิน สนับสนุนการค้า การเงิน การลงทุนการค้าระหว่างประเทศ และพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปี 2564 ที่ขยายบทบาทเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Bank) โดยอันที่จริงแล้ว ธนาคารก่อตั้งขึ้นด้วยเจตจำนงที่จะให้เป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาอยู่แล้ว เน้นให้บริการทางการเงิน การค้า การลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งในปีที่ผ่านมาธนาคารก็บรรลุภารกิจเป็นอย่างดี

ธนาคารเพื่อการพัฒนาฯ มีบทบาทที่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ที่สำคัญ คือ ธนาคารพาณิชย์มุ่งประสงค์ในเรื่องของกำไรเป็นหลัก ในขณะที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาฯ มุ่งประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะในพันธกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นธนาคารที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ด้านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าฯ ได้วางตำแหน่งพันธกิจตนเองชัดเจนว่าเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการในด้านการบริการการเงิน การค้า การลงทุนระหว่างประเทศ

จะเห็นได้ว่า แนวคิดของธนาคารเพื่อการพัฒนาฯ มีทั้งในระดับโลก ระดับทวีป และระดับประเทศ ในระดับโลกมีธนาคารโลก (World Bank หรือ International Bank for Reconstruction and Development)  ในระดับทวีปมี ธนาคารพัฒนาแห่งยุโรป (European Bank for Reconstruction and Development) ในเอเชียมี ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ในระดับประเทศ ประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายรวมทั้งประเทศไทยมีการก่อตั้ง ธนาคารเพื่อการพัฒนา คือให้บริการทางการเงินที่ไม่ได้มุ่งกำไรสูงสุด แต่มุ่งประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า ได้จัดตั้งขึ้นมาตามแนวคิดนี้ด้วยเช่นกัน

“อย่างไรก็ตาม การดำรงอยู่ของธนาคารฯ มีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำรงตนเยี่ยงธนาคารที่สามารถดำรงตนอยู่ได้โดยมีกำไรอยู่พอสมควร อยู่ในกรอบของหนี้ด้อยคุณภาพที่เหมาะสม ดังนั้นแม้ว่าธนาคารฯ จะมีกำไรน้อยลงและมีหนี้ด้อยคุณภาพที่มากขึ้นในปีที่ผ่านมา ก็ไม่ควรกังวลเรื่องเหล่านี้มากจนเกินไป อีกทั้งการจัดอัตราเงินทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงยังคงสูงกว่าเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดไว้ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8.5 ซึ่งถือว่าได้มีการบริหารจัดการให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เมื่อสถานะของธนาคารมีความแข็งแกร่งเช่นนี้ จึงอยากให้ธนาคารมุ่งมั่นไปในเรื่องของการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาอย่างจริงจัง มุ่งมั่นในภาคธุรกิจที่จำเป็นในการพัฒนาทั้งปัจจุบันและอนาคต” นายสถิตย์ กล่าว และย้ำว่า

ที่อยากจะเน้นคือ ให้มีการส่งเสริมในภาคส่วน SME ให้มาก รวมถึง SME ที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร แม้ว่าธนาคารจะให้ความสนใจอยู่แล้ว แต่อยากให้ทุ่มเทความสนใจ และทรัพยากรให้มากกว่าเดิม เพราะเป็นภาคส่วนที่จำเป็นต้องพัฒนา แต่แน่นอนที่สุดบทบาทของธนาคาร คือ บริการทางการเงินเกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศ ไม่ได้ไปช่วย SME ในฐานะที่เป็น SME ไม่ได้ไปช่วยเกษตรในฐานะเกษตร แต่ไปช่วยให้บริการทางการเงินเพื่อให้เขาเหล่านั้นออกไปสู่ตลาดโลกได้ ไปสู่การค้าระหว่างประเทศได้ 

นายสถิตย์ กล่าวตอนท้ายว่า เมื่อธนาคารทำหน้าที่ ธนาคารเพื่อการพัฒนาด้วยการดูแลผู้ประกอบการ SME เพื่อการส่งออก การประเมินความสำเร็จของธนาคาร จึงไม่ควรยึดมั่นในหลักการประเมินเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ หรือ ยึดถือตัวชี้วัดเชิงพาณิชย์เป็นหลัก เพราะอาจจะทำให้ผู้บริหารธนาคารฯ กังวลในตัวชี้วัดเชิงพาณิชย์มากเกินไป การประเมินจึงต้องวางหลักเกณฑ์ ว่ามีการพัฒนาอะไรขึ้นมาบ้าง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริการทางการเงินในการส่งออกระหว่างประเทศ ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ คือ การพัฒนาผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการพัฒนาเพื่อการส่งออก ทั้งนี้บทบาทของธนาคารฯ ที่สนับสนุนเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต เช่น เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และการรักษาสิ่งแวดล้อม นับเป็นบทบาทการพัฒนาที่สำคัญอีกบทบาทหนึ่งที่ธนาคารฯ ดำเนินการได้ดีสอดคล้องกับยุคสมัย.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password