‘ก้าวไกล’ โคม่าส่งท้ายปี ‘ศาลรธน.’ เปิดห้องไต่สวนคดี แก้ ม.112 ล้มล้างการปกครองฯ

คริสต์มาสเดือด ศาลรธน.เปิดห้องไต่สวนคดี ก้าวไกล แก้ 112 ล้มล้างการปกครองฯ เผยเรียก พยานปากเอกสองคนให้ถ้อยคำ พรรคส้ม โคม่า ผู้ร้องบอก มั่นใจมาก หลังเห็นข้อมูลหลายหน่วยงานราชการส่งถึงศาล สนับสนุนข้อกล่าวหา เชื่อหากคดีถึงที่สุดอาจถึงขั้น “ยุบพรรค”

วันที่ 24 ธ.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลรัฐธรรมนูญว่า ในวันจันทร์ที่ 25 ธ.ค.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญ จะเปิดห้องพิจารณาคดีเพื่อไต่สวนคำร้องคดี “ล้มล้างการปกครองฯ” หรือคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องให้ ศาลรัฐธรพิจารณา วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…)พ.ศ…เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และ ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

นายธีรยุทธ ผู้ร้องคดีดังกล่าวว่า จะเดินทางไปศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อรับฟังการให้ถ้อยคำของพยานที่ศาลรัฐธรรมนูญเรียกมา โดยทางศาลฯ ไม่ได้เรียกให้ตนขึ้นให้ถ้อยคำ แต่เท่าที่ทราบ ศาลก็ไม่ได้เรียกให้แกนนำพรรคก้าวไกล ทั้งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 รวมถึงนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล คนปัจจุบัน ขึ้นให้ถ้อยคำด้วย ทราบเบื้องต้นว่า ศาลฯ ได้เรียกพยานที่อยู่ในบัญชีรายชื่อพยานบุคคลที่พรรคก้าวไกลยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ จำนวนสองคน ขึ้นให้ถ้อยคำเท่านั้น

นายธีรยุทธ กล่าวถึงความมั่นใจในการสู้คดีล้มล้างการปกครองฯว่า มั่นใจในคำร้อง เพราะก่อนหน้านี้เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางศาลรัฐธรรมนูญ ได้อนุญาตให้เข้าไปตรวจสำนวนที่ยื่นต่อศาล เท่าที่ดูพบว่า ศาลรัฐธรรมนูญเรียกข้อมูลจากหลายหน่วยงานราชการ ส่งมาให้พิจารณาในในสำนวนคำร้อง ซึ่งหลายหน่วยงานที่ส่งไป ให้ศาล ออกมาในแนวทางสนับสนุนคำร้องที่ตนยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ศาลจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร ก็อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

“คำร้องคดีดังกล่าว เป็นเรื่องของการขอให้ ศาลวินิจฉัยว่า เห็นควรให้พรรคก้าวไกลหยุดการรณรงค์หาเสียง หรือ การรณรงค์ให้ยกเลิกการแก้ไขมาตรา 112 ได้หรือไม่ เพราะหากยังคงปล่อยให้มีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จนมีการนำร่างดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ ก็จะทำให้อาจเกิดการก้าวล่วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่ตอนเสนอร่างแก้ไขเข้าสภาฯ แล้วทางรัฐสภามีการพิจารณา ทางสมาชิกรัฐสภาทั้งสส.และสว.เวลาเขาอภิปราย เขาจะได้เอกสิทธิ์คุ้มครองเวลาอภิปรายเรื่องนี้ รวมถึงยังคุ้มครองถึงคนที่จะนำข้อความการอภิปรายดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อด้วย ที่อาจมีผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ คำร้องคดีนี้ จึงเป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้พรรคก้าวไกล ยุติการเคลื่อนไหวในเรื่องการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112” นายธีรยุทธ กล่าว

เมื่อถามว่า ผลคำวินิจฉัยคดีดังกล่าว หากสุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ให้พรรคก้าวไกล ยุติการเคลื่อนไหวหรือดำเนินการใดๆเกี่ยวกับมาตรา 112 ผลที่จะตามมาจะเป็นอย่างไร จะมีการยื่นคำร้องให้ยุบพรรคก้าวไกลต่อไปหรือไม่ นายธีระยุทธกล่าวว่า เรื่องดังกล่าว โดยตามขั้นตอน ก็เป็นหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการการเลือกตั้งอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ใดต้องไปยื่นให้กกต.ดำเนินการ เพราะกกต.มีหน้าที่โดยตรงในการสอดส่อง ดูการหาเสียงของพรรคการเมือง เพราะเลขาธิการกกต.ก็เป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองโดยตำแหน่ง ต้องทำหน้าที่ดังกล่าว

รายงานข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งว่า สำหรับพยานบุคคลที่ศาลรัฐธรรมนูญเรียกมาให้ถ้อยคำวันที่ 25 ธ.ค.นี้ เป็นพยานที่เป็นนักกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอบัญชีรายชื่อพยานไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา โดยมีรายงานว่า พรรคก้าวไกล เสนอบัญชีรายชื่อพยานไปทุกปาก

และหลังการไต่สวนพยานเสร็จสิ้นลง ที่คาดว่าไม่เกิน 12.00 น. ทางศาลรัฐธรรมนูญ จะประกาศกำหนดวันนัดประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อลงมติและอ่านคำวินิจฉัยคดีดังกล่าวทันที โดยคาดว่า อาจจะนัดช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2567 หรือไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่จะเป็นการนัดต่อจาก คดีหุ้นสื่อไอทีวี ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ศาลไต่สวนเมื่อ 20 ธ.ค.เสร็จ ศาลก็นัดอ่านคำวินิจฉัย 24 ม.ค. 2567

สำหรับคำร้องคดีดังกล่าว หากศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้อง ก็ถือว่ายุติ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้พรรคก้าวไกลยุติการเคลื่อนไหวทุกอย่างในเรื่องมาตรา 112 จะทำให้มีการเคลื่อนไหวไปยื่นเรื่องต่อ นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อให้ กกต.ยื่นคำร้องเอาผิดนายพิธาและพรรคก้าวไกล ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 92 (2) ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ที่บัญญัติว่า “หากพรรคการเมืองใดกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ให้ กกต.ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค”

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password