“เรืองไกร” ร้อง นายกฯ สอบ “พิมพ์ภัทรา” เสียภาษีโดยถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ?

“เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ”ส่งหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบ ข้อมูลบัญชีทรัพย์สิน “พิมพ์ภัทรา-คู่สมรส” มีการเสียภาษี ถูกต้องหรือไม่ หลังพบข้อมูล จากสำนักข่าวอิศรา มีรายได้พึงประมูลบางส่วนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

วันที่ 19 พ.ย. 2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้นำข้อมูลจากบัญชีทรัพย์สินของ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช ที่ยื่นในฐานะ ส.ส. ทั้งสามครั้ง มาตรวจสอบว่า นางสาวพิมพ์ภัทรา กับ คู่สมรส มีการนำรายได้พึงประเมินที่แจ้งต่อ ป.ป.ช. ไปเสียภาษีให้กรมสรรพากร โดยถูกต้องครบถ้วน หรือไม่ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 สำนักข่าวอิศรา หัวข้อ “INFO: ทรัพย์สิน 79.70 ล. พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์” ลงข่าวเป็นตารางบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2566 โดยไม่ได้เปรียบเทียบรายได้กับเงินได้พึงประเมิน รายละเอียดปรากฏตามสำเนาข่าวที่ส่งมาด้วยนั้น ต่อมาเว็บไซต์ ป.ป.ช. ได้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของนางสาวพิมพ์ภัทรา กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566 ทำให้สามารถนำบัญชีที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ทั้งสามครั้ง คือ กรณี กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2562 กรณีพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2566 และกรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566 มาตรวจสอบเพิ่มเติมโดยทำตารางเปรียบเทียบใน Excel

ข้อ 2. จากบัญชีทรัพย์สิน กรณี เข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2562 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล แจ้งยอดทรัพย์สินรวม 30,254,834.86 บาท หนี้สินรวม 98,157.63 บาท แจ้งยอดรายได้รวมของตนเองไว้ 2,162,720 บาท และของคู่สมรส แจ้งยอดทรัพย์สินรวม 41,104,822.07 บาท หนี้สินรวม 9,693,135.37 บาท แจ้งยอดรายได้รวมของคู่สมรสไว้ 2,000,000 บาท แต่ในบัญชีทรัพย์สินของ ป.ป.ช. ไม่มียอดเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีไว้ด้วย

ข้อ 3. จากบัญชีทรัพย์สิน กรณี พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2566 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล แจ้งยอดทรัพย์สินรวม 33,160,979.55 บาท หนี้สินรวม 39,410.40 บาท แจ้งยอดรายได้รวมของตนเองไว้ 2,177,456.88 บาท โดยมียอดรายได้จากการลงทุน 200,000 บาท เมื่อหักรายได้จากเงินลงทุนออก เนื่องจากมีสิทธิไม่ต้องนำไปเสียภาษีก็ได้ จะเหลือเงินได้ที่ควรนำไปเสียภาษี 1,977,456.88 บาท แต่ยอดเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีแจ้งไว้เพียง 1,413,035.23 บาท ดังนั้น จึงมีผลต่างประมาณ 564,421 บาทเศษ กรณี จึงมีเหตุที่ควรตรวจสอบว่า รายได้ที่แจ้งไว้ต่อ ป.ป.ช. มีการนำไปเสียภาษีต่อกรมสรรพากร โดยถูกต้อง ครบถ้วน หรือไม่

ในส่วนของคู่สมรส แจ้งยอดทรัพย์สินรวม 45,424,379.45 บาท หนี้สินรวม 8,928,848 บาท แจ้งยอดรายได้รวมของคู่สมรสไว้ 2,000,000 บาท แต่ยอดเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีแจ้งไว้เพียง 820,0000 บาท ดังนั้น จึงมีผลต่าง 1,180,000 บาท กรณี จึงมีเหตุที่ควรตรวจสอบว่า รายได้ที่แจ้งไว้ต่อ ป.ป.ช. มีการนำไปเสียภาษีต่อกรมสรรพากร โดยถูกต้อง ครบถ้วน หรือไม่

ข้อ 4. จากบัญชีทรัพย์สิน กรณี เข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล แจ้งยอดทรัพย์สินรวม 33,911,364.19 บาท หนี้สินรวม 132,672 บาท แจ้งยอดรายได้รวมของตนเองไว้ 2,177,456.88 บาท โดยมียอดรายได้จากการลงทุน 200,000 บาท เมื่อหักรายได้จากเงินลงทุนออก เนื่องจากมีสิทธิไม่ต้องนำไปเสียภาษีก็ได้ จะเหลือเงินได้ที่ควรนำไปเสียภาษี 1,977,456.88 บาท แต่ยอดเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีแจ้งไว้เพียง 1,413,035.73 บาท ดังนั้น จึงมีผลต่างประมาณ 564,421 บาทเศษ กรณี จึงมีเหตุที่ควรตรวจสอบว่า รายได้ที่แจ้งไว้ต่อ ป.ป.ช. มีการนำไปเสียภาษีต่อกรมสรรพากร โดยถูกต้อง ครบถ้วน หรือไม่

ในส่วนของคู่สมรส แจ้งยอดทรัพย์สินรวม 46,436,912.82 บาท หนี้สินรวม 9,637,719.94 บาท แจ้งยอดรายได้รวมของคู่สมรสไว้ 2,000,000 บาท แต่ยอดเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีแจ้งไว้เพียง 820,0000 บาท กรณี จึงมีผลต่าง 1,180,000 บาท กรณี จึงมีเหตุที่ควรตรวจสอบว่า รายได้ที่แจ้งไว้ต่อ ป.ป.ช. มีการนำไปเสียภาษีต่อกรมสรรพากร โดยถูกต้อง ครบถ้วน หรือไม่

นายเรืองไกร สรุปว่า เช้านี้ได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีทางไปรษณีย์ EMS เรียบร้อยแล้ว

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password