“วันนอร์” ขอฟังฝ่ายกม.ก่อนประเมิน ก่อนเลื่อนโหวตนายกฯรอบสาม หวั่นเกิดขัดแย้งในทางปฏิบัติ

ทีมกฎหมาย ประธานสภาฯ แนะฟังความรอบด้าน ก่อนพิจารณาเลื่อนไม่เลื่อนโหวตนายกฯรอบ 3 ด้าน หลังผู้ตรวจฯชงศาลรธน.ตีความ มติรัฐสภา “วันนอร์” พร้อมรับฟังความเห็น “จรัญ ภัดี ธนากุล” อดีตตุลาการศาลรธน. ที่ระบุ ศาลไม่มีอำนาจก้าวก่าย มติรัฐสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ

วันที่ 25 ก.ค.2566 ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจมติของรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมาดังนั้นในวันที่ 27 ก.ค.จำเป็นต้องเลื่อนวาระการเลือกนายกฯออกไปก่อนหรือไม่ว่า ได้รับทราบว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญแต่ไม่แน่ว่าจะส่งเรื่องไปวันนี้หรือเมื่อไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องด่วนคิดว่าผู้ตรวจการแผ่นดินต้องรีบส่งโดยด่วน เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญจะได้วินิจฉัยว่าการลงมติของรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ขัดแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ และในระหว่างที่ยังไม่ได้วินิจฉัยให้ประธานรัฐสภาชะลอการพิจารณาแต่งตั้งนายกฯออกไปก่อน เกรงว่าหากพิจารณาไปแล้วอาจจะเกิดความเสียหายขึ้นได้ ถามว่าทางสภาจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งตนได้ให้ฝ่ายกฎหมายของสภาฯพิจารณาแล้วเสนอรายงานต่อตนในเวลา 14.00 น.วันนี้ว่าจะให้รัฐสภาดำเนินการอย่างไรในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อเลือกนายกฯในวันที่ 27 ก.ค.นี้ คงต้องฟังข้อพิจารณาของฝ่ายกฎหมายของสภาฯก่อน

เมื่อถามว่าประธานรัฐสภาสามารถตัดสินใจได้เองหรือไม่หากได้ฟังความเห็นของฝ่ายกฎหมายแล้ว นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ประธานสภาฯมีอำนาจสั่งงด หรือเลื่อนการประชุมได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องฟังฝ่ายกฎหมายเสนอก่อนว่าถ้าต้องเลื่อนมีเหตุผลอย่างไร และการเลื่อนก็เช่นกัน ซึ่งยังมีเวลาก่อนที่จะถึงวันที่ 27 ก.ค. เพราะในวันที่ 26 ก.ค.ได้นัดวิป 3 ฝ่ายมาพิจารณาว่าจะมีการประชุมในวันที่ 27 ก.ค.หรือไม่ แต่ตนจะฟังข้อมูลต่าง ๆให้ครบถ้วนและจะรีบดำเนินการต่อไป

เมื่อถามว่านายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีเขตอำนาจในการพิจารณาของรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า รับฟัง แต่เราต้องเคารพการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผูกพันทุกองค์กร รวมทั้งรัฐสภา

“ขณะนี้เราไม่ทราบว่าผู้ตรวจการฯส่งไปแล้วหรือไม่ คิดว่าเรื่องด่วนน่าจะส่งไปแล้ว ส่วนว่าศาลรัฐธรรมนูญเมื่อรับแล้วจะรับพิจารณา หรือไม่รับพิจารณาประเด็นที่หนึ่ง ถ้าไม่รับพิจารณาสภาก็ดำเนินการต่อไป แต่ถ้ารับพิจารณาแล้ว สภาฯก็ต้องพิจารณาว่าข้อวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญรับแล้วพิจารณาด้วยหรือไม่ให้รัฐสภาหยุดดำเนินการเลือกนายกฯไว้ก่อน ซึ่งมีข้อพิจารณาของศาลอยู่ 2 ข้อคือรับ หรือไม่รับ และถ้ารับจะให้รัฐสภาฯหยุดพิจารณาไว้ก่อนหรือไม่ สภาฯก็ต้องพิจารณา” ประธานรัฐสภา กล่าว

เมื่อถามว่าถ้าไม่รับแล้วสั่งงดประชุมจะทำให้เกิดความเสียหายอะไรหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เรายังไม่ทราบ แต่ประเด็นสำคัญคือเนื่องจากว่าศาลรัฐธรรมนูญคงจะมีวาระการประชุมโดยเร็ว ถ้าเรามีการประชุมหรือทำอะไรไปแล้วเกรงว่าจะเกิดความเสียหาย หรือขัดแย้งในทางปฏิบัติได้ และเกิดความสับสนด้วย วันนี้ขอประเมินสถานการณ์ก่อน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password