เลขาฯป.ป.ช. ชี้ ตรวจสอบต้นขั้วคำสั่งศาลยาก เหตุเอกสารตั้ง “พิธา” เป็นผู้จัดการมรดก เกิน10ปี

“เลขาฯป.ป.ช.” ชี้ การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่เป็นต้นขั้วคำสั่งศาลยาก เหตุเอกสารตั้ง การแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกเกิน 10 ปี เผย มีอดีต ส.ส. ยื่นบัญชีทรัพย์สินแล้วกว่า 80% ส่วนหน้าที่วินิจฉัยคุณสมบัติเป็นของ กกต.

วันที่ 16 มิ.ย.2566 เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมเซ็นทารา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการ และ คอนเวนชันเซ็นเตอร์แจ้งวัฒนะ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการยื่นบัญชีทรัพย์สินของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ว่า ต้องตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินทั้งระบบ และทุกรายการ แต่ที่ปรากฎเป็นข่าว มีแค่เรื่องหุ้นไอทีวี และหนี้ค้ำประกัน ซึ่งต้องรอตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเบื้องต้น นายพิธา ได้ยื่นบัญชีเข้ามาตอนรับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อปี 2562 และ มีการยื่นเอกสารการถือหุ้นไอทีวีเข้ามาเพิ่มเติม พร้อมทั้งแนบคำสั่งศาล เมื่อประมาณเดือนมี.ค. 2550 ให้เป็นผู้จัดการมรดก โดยต้องดูว่าโอนเมื่อไหร่ วันที่พ้นจากตำแหน่งยังมีอยู่หรือไม่ ก็ต้องยื่น ถ้าเทียบกับทรัพย์สินที่ยื่นมาอาจจะเล็กน้อย หากสงสัยอาจจะสอบถามได้

นายนิวัติไชย ยังกล่าวถึง การตรวจสอบคำสั่งศาล อีกว่า ทาง ป.ป.ช. ต้องไปเช็คจากสำเนา หรือ ต้นขั้วคำสั่งว่ามาจากศาลจริงหรือไม่ แต่ปรากฎว่าคำสั่งศาลนั้น มีมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งก็นับเป็นเวลา 15 ปีแล้ว และ โดยปกติของเอกสารราชการ 10 ปีก็ทำลายแล้ว ดังนั้น จึงเป็นความยากลำบากในการตรวจสอบ แต่เพิ่งได้รับแจ้งมาว่า การแต่งตั้งให้นายพิธา เป็นผู้จัดการมรดกไม่มีผู้ใดคัดค้าน เพียงแต่อยู่ที่ว่า ทรัพย์สินในกองมรดกมีเท่าไหร่ ซึ่งต้องไปดูว่า ในพินัยกรรมนั้นมอบให้ใครบ้าง นายพิธา อาจเป็นผู้จัดการมรดกที่ต้องไปทำการแบ่งให้ทายาท ซึ่งตรงจุดนี้ไม่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.

นายนิวัติไชย กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การตรวจสอบพินัยกรรมนั้นต้องไปตรวจสอบ เช่น ที่ดินมอบให้ ก็ต้องไปจดทะเบียนโอนเพื่อเป็นกรรมสิทธิ์ หรืออีกกรณีไม่มีพินัยกรรม หรือมีแต่ไม่ได้ระบุชัดเจน ผู้จัดการมรดกต้องไปคุยกันว่ามรดกทั้งหมดยกให้ใครบ้าง ส่วนในทางกฎหมาย การจะบอกว่า หุ้นไอทีวียังไม่เป็นของนายพิธา หรือไม่อย่างไร ยังตอบไม่ได้ เพราะยังไม่เห็นรายละเอียด แต่หน้าที่ของ ป.ป.ช. มองอย่างเดียวคือ ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง มีทรัพย์สินดังกล่าวแล้วหรือไม่ และยื่นเข้าแล้วหรือยัง ส่วนการจะเป็นผู้จัดการมรดก แล้วส่งผลให้เป็นคุณสมบัติต้องห้ามเป็นเรื่องอีกองค์อำนาจ คือ กกต.ซึ่งมีหน้าที่วินิจฉัย ขณะที่วันนี้ได้รับแจ้งจากทางสารบัญมาว่า มีจำนวน ส.ส. ที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินเข้ามาแล้วหลังพ้นตำแหน่งกว่าร้อยละ 80 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 18 มิ.ย. แต่เบื้องต้นก็ได้มีการยื่นขอขยายเวลาเข้ามาเพิ่มเติม.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password