กาง 3 สูตรตั้งรัฐบาล “เพื่อไทย” เป็นต่อ “พิธา-ก้าวไกล” ยังอยู่ในสมการ?

สำนักข่าวอิศรา ระบุ 3 สูตรข้างต้นจึงทำให้ ‘ก้าวไกล’ จำเป็นอย่างยิ่งต้องแย่งชิงเก้าอี้ประธานสภาฯมาให้ได้ เพราะหากพลั้งพลาดประมุขฝ่ายบริหาร ยังคงมีประมุขฝ่ายนิติบัญญัติไว้เดิมแต้มต่อรองได้อยู่ เช่นเดียวกับ ‘เพื่อไทย’ ที่รู้ทันกันดี จึงจำเป็นต้องคว้าเก้าอี้ประธานสภาฯไว้ให้ได้

การประชุมของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล จัดขึ้นที่พรรคประชาชาติ เมื่อ 30 พ.ค. 2566 จบแบบ ‘แฮปปี้ เอ็นดิ้ง’

โดยเฉพาะฉากโชว์หวาน ‘ชลน่าน ศรีแก้ว’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เข้าไปกอด พร้อมประกบมือเป็นรูปหัวใจกับ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถมสำทับกับสื่อว่า “หวานไหม ๆ” พร้อมกับยืนยันเป็นรอบที่ 503 ว่า เพื่อไทยพร้อมจะร่วมทำงานกับก้าวไกล ไม่ว่าตกอยู่ในสถานะอะไรก็ตาม

ท่ามกลางกระแส ‘ดีลลับ’ ที่ยังคงถูกพูดถึงหนาหูในแวดวงการเมือง ไม่เว้นแม้แต่เซเลปโซเชียลฯอย่าง ‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์’ ก็ออกมาแฉแทบจะรายวัน

รวมถึงความกินแหนงแคลงใจกันระหว่าง ‘ผู้พันปุ่น’ น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กับ ‘หมอชลน่าน’ สังเกตได้ว่าในการประชุมเมื่อ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ทสท.ส่ง ‘ผู้พันป๊อป’ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ มือทำงานประสานสิบทิศ เป็นคนไปเจรจา โดยไร้เงา ‘ผู้พันปุ่น’ และ ‘คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์’ หัวหน้าพรรค ทสท.

อย่างไรก็ตามภายหลังการเลือกตั้งผ่านพ้นเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ของการ ‘ฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล’ ระหว่าง 8 พรรคร่วมนั้น ค่อนข้างมีความชัดเจน และลงตัวมากขึ้น เหลือแค่ประเด็นเกาเหลาระหว่าง ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ในเรื่องของเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร และโควตาแบ่งเค้กรัฐมนตรี

แต่เรื่องนี้ ‘หมอชลน่าน-พิธา’ ยืนยันตรงกันว่า เป็นเรื่องเฉพาะของ 2 พรรคต้องไปหารือกัน และคาดว่าจะยุติได้เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรอง ส.ส.อย่างเป็นทางการ ซึ่งตามไทม์ไลน์ น่าจะเกิดขึ้นช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ก.ค. 2566

ประเด็นที่น่าสนใจ และหลายคนจับตาคือ สูตรการจัดตั้งรัฐบาลขณะนี้เป็นอย่างไร ‘พิธา-ก้าวไกล’ ยังคงอยู่ในสมการหรือไม่?

สำนักข่าวอิศรา วิเคราะห์ให้ทราบ ดังนี้

1.สูตร 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ตามการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เมื่อ 22 พ.ค.

สูตรนี้ยังเป็นไปได้มากที่สุด โดยเฉพาะ ‘ก้าวไกล’ เชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยม ส่วน ‘เพื่อไทย’ ว่ากันว่า ‘ยุติ’ สารพัดดีลทั้งหลายไปก่อน เพราะกระแสแรงกดดันค่อนข้างมาก สังเกตได้จากหลังที่ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็ก แคนดิเดตนายกฯเพื่อไทย บินไปหา ‘ทักษิณ ชินวัตร’ คล้อยหลังไม่นาน ‘โทนี วู้ดซัม’ ก็งดจ้อผ่าน ‘แคร์ทอล์ก’ ช่องทางสื่อสารทางเดียวของตัวเอง นัยว่าเพื่อลดแรงเสียดทานทางการเมือง

นอกจากนี้จับสัญญาณไปยัง ‘หมอชลน่าน’ ที่แถลงหลังประชุม 8 พรรคร่วมเมื่อ 30 พ.ค.ยังยืนยันว่า การจัดตั้งรัฐบาลร่วม 8 พรรค โดยเฉพาะเพื่อไทย-ก้าวไกล เป็นอาณัติจากประชาชน ที่โหวตมาให้รวมกว่า 25 ล้านเสียง ดังนั้นจึงไม่อาจปฏิเสธได้

ดังนั้นหากใช้สูตรนี้ คงเหลือแค่ยุติข้อขัดแย้งชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ และแบ่งเค้กรัฐมนตรีให้ทุกฝ่ายพึงพอใจเท่านั้น ก็สามารถเสนอชื่อ ‘พิธา’ นั่งเก้าอี้นายกฯได้ทันที

แต่ต้องไม่ลืมว่าในการโหวตเลือกนายกฯ ยังคงใช้บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ ที่เปิดช่องให้ ‘วุฒิสภา’ มีส่วนร่วมด้วย โดยต้องใช้เสียงของ 2 สภาฯ 376 เสียง นั่นเท่ากับว่าขณะนี้ 8 พรรคร่วมมีจำนวน 313 เสียง ยังขาดอีกอย่างน้อย 36 เสียงถึงจะเกินกึ่งหนึ่ง

ทว่าคณะเจรจาเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ที่นำโดย ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ เลขาธิการพรรคก้าวไกล และ ‘พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์’ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ประเมินไว้ว่ามีเสียง ส.ว.พร้อมโหวต ‘พิธา’ ประมาณ 16-20 คน ยังขาดอีก 43-47 คนถึงจะครบถ้วนตามเงื่อนไข

ส่วนฝ่ายวุฒิสภา ปัจจุบันแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ฝ่ายที่ออกตัวว่าจะสนับสนุน ‘พิธา’ มีเปิดตัวผ่านหน้าสื่อแล้วอย่างน้อย 9-10 คน ส่วนที่เหลือแบ่งเป็น ฝ่ายที่ขอเก็บตัวเงียบจำนวนหนึ่ง และฝ่ายที่ยังไม่เปิดตัวว่าเลือกใครมีจำนวนมากที่สุด

ดังนั้นสูตรนี้มีเงื่อนไขเดียวต้องฝ่าด่าน ส.ว.ให้ได้ ต้องรอลุ้นฝีมือการเจรจาของ ‘ชัยธวัช-พิจารณ์’ ว่าผลจะเป็นอย่างไร

2.สูตร ‘ส้มหล่น’ เพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

สูตรนี้กำลังถูกพูดถึงอยู่เช่นกัน และมีโอกาสเป็นไปได้สูง หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับ ‘พิธา’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในคดีถือครองหุ้น ‘ไอทีวี’ เข้าข่ายว่าเป็นการถือหุ้นสื่อ จะทำให้ ‘พิธา’ ต้องพ้นเก้าอี้ ส.ส. รวมถึงอาจต้องพ้นสถานะหัวหน้าพรรคได้ ขณะเดียวกันตามหลักการประชาธิปไตยที่ 8 พรรคร่วมยึดมั่นถือมั่นคือ นายกฯต้องมาจาก ส.ส. จะทำให้ ‘พิธา’ ไม่อาจถูกเสนอชื่อชิงเก้าอี้นายกฯได้

หากรูปการณ์เป็นเช่นนี้ จะทำให้ ‘ส้มหล่น’ เป็นโอกาสของ ‘เพื่อไทย’ ในการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล และเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ซึ่ง ‘ก้าวไกล’ อาจไม่เห็นด้วยกับหลายเงื่อนไขของ ‘เพื่อไทย’ และยอมถอยพร้อมเป็น ‘ฝ่ายค้าน’

3.สูตรโดดเดี่ยวพรรคก้าวไกล ผลักเป็นฝ่ายค้าน

สูตรนี้ถูกพูดถึงหนาหูภายหลังผลการเลือกตั้ง 2566 ออกมาใหม่ ๆ โดยทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคใหญ่-พรรคเล็ก แม้แต่พรรคคู่แข่งอย่าง ‘ประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ’ อาจมาแพ็คจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล โดยโดดเดี่ยว ‘ก้าวไกล’ ไปเป็นฝ่ายค้านพรรคเดียว

หรืออีกสูตรคือทุกพรรคจับมือกันตั้งรัฐบาล ยกเว้น ‘รวมไทยสร้างชาติ-ก้าวไกล’ ที่จะถูกลอยแพไปเป็นฝ่ายค้านร่วม 2 พรรค

สูตรนี้มีสิทธิเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยมาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองถึงขั้นสั่นสะเทือนแบบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่มีการ ‘ยุบพรรค’ เกิดขึ้น สูตรนี้อาจถูกปัดฝุ่นนำมาพูดถึงกันอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามในทุกสูตรที่มี ‘กูรูการเมือง’ วิเคราะห์กันข้างต้นนั้น ล้วนมี ‘เพื่อไทย’ รวมอยู่ในทุกสมการทั้งสิ้น จึงกลายเป็นพรรคที่มี ‘แต้มต่อ’ เหนือที่สุดในทุกพรรคที่จัดตั้งรัฐบาล ด้วยท่าทีประนีประนอมได้ เล่นการเมืองแบบเก่า ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร เน้นแก้ปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจเป็นหลัก อาจทำให้กลุ่ม ‘อนุรักษ์นิยม’ พอจะยอมรับได้อยู่บ้าง

ต่างกับ ‘ก้าวไกล’ ที่เล่นการเมืองแบบใหม่ ถูกหลายพรรคมองว่าเป็น ‘เด็กดื้อ’ พร้อมรื้อโครงสร้าง เปลี่ยนขนบธรรมเนียมบางอย่าง ไม่ถูกจริตกลุ่ม ‘อนุรักษ์นิยม’ เท่าใดนัก

3 สูตรดังกล่าว ข้างต้นจึงทำให้ ‘ก้าวไกล’ จำเป็นอย่างยิ่งต้องแย่งชิงเก้าอี้ประธานสภาฯมาให้ได้ เพราะหากพลั้งพลาดประมุขฝ่ายบริหาร ยังคงมีประมุขฝ่ายนิติบัญญัติไว้เดิมแต้มต่อรองได้อยู่ เช่นเดียวกับ ‘เพื่อไทย’ ที่รู้ทันกันดี จึงจำเป็นต้องคว้าเก้าอี้ประธานสภาฯไว้ให้ได้

อย่างไรก็ตามทั้งหมดเป็นเพียงการวิเคราะห์สูตรหลังการเลือกตั้งเพียง 2 สัปดาห์เศษเท่านั้น ยังมีเวลาจนกว่า กกต.จะรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเป็นทางการช่วงกลางเดือน ก.ค. จึงมีเวลาอีกมาก และอีกหลายปัจจัยในการจัดตั้งรัฐบาล

กว่าจะถึงเวลานั้น อย่ากระพริบตาเป็นอันขาด!

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password