ก้าวไกล นัด8พรรคร่วม ถกจัดตั้งรบ. จับตา! เก้าอี้ “ประธานสภาฯ” ใครจะได้ครอง
แบ่งโควตา ‘รมต.’ ใช้สูตร 14+1 ‘พท.-ก.ก.’ คุยนอกรอบชิง ‘ปธ.สภา’ ขณะ “เพื่อไทย” มีเฮ ! กกต.ตีตกคำร้อง เอาผิด “นโยบายเงินดิจิตัล” ชี้ไม่เข้าข่ายหลอกลวง
วันที่ 30 พ.ค.2566 ความคืบหน้าการเจรจาร่วม 8 พรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลนั้น โดยวันนี้( 30 พ.ค.) ซึ่งมีนัดประชุมร่วมกัน ที่พรรคประชาชาติ ในส่วนของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) จะได้มีการหารือนอกรอบกันก่อนผ่านทีมเจรจาของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะตำแหน่งประธานสภาฯ ที่ยังเป็นปัญหาไม่ลงตัว
โดย พรรคพท.ยังคงยืนยันชัดเจนว่าพรรค พท.ต้องได้ตำแหน่งประธานสภาฯ เนื่องจากพรรค ก.ก.ได้ตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเป็นประมุขฝ่ายบริหารแล้ว ในส่วนที่มีกระแสข่าวว่าจะให้คนกลางอย่างนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ มาดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ แทนเพื่อแก้ปัญหาความไม่ลงตัวระหว่างสองพรรคนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ได้แสดงความประสงค์ชัดเจนว่าจะไม่ขอรับตำแหน่งประธานสภาฯ อย่างแน่นอนหากทั้งสองพรรคยังคงเห็นขัดแย้งในเรื่องนี้
รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของการจัดสรรโควตารัฐมนตรีและกระทรวงต่างๆ นั้น ชัดเจนว่าพรรค ก.ก.จะขอรับผิดชอบเน้นกระทรวงทางด้านความมั่นคงอย่างกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย รวมถึงกระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่พรรคพท.จะได้กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กระทรวงพลังงาน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
“พรรค ก.ก.จะได้เก้าอี้รัฐมนตรี 14 + 1 คือรวมตำแหน่งนายกฯ ของหัวหน้าพรรค ก.ก.ด้วย ขณะที่พรรคพท.จะได้เก้าอี้รัฐมนตรี 14 + 1 เช่นกันคือต้องรวมตำแหน่งประธานสภาฯ ของหัวหน้าพรรคพท. จึงจะเป็นการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีด้วยความเหมาะสม เป็นธรรมอย่างไรก็ตาม ในส่วนของโควตากระทรวงรวมถึงสูตรการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี ยังสามารถสลับสับเปลี่ยนกันได้ขึ้นกับการตกลงกันของทั้งสองพรรค”แหล่งข่าวระบุ
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ วันที่ 29 พ.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ที่ประชุม กกต.พิจารณากรณีมีการยื่นร้องให้ กกต.ตรวจสอบนโยบายหาเสียงกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย (พท.) ว่าเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ และหลอกลวงให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครตามมาตรา 73(1)(5) พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 หรือไม่ โดยที่ประชุม กกต.ได้พิจารณาและมีมติตามที่สำนักงานเสนอว่า ไม่ควรรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นนโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงเมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้ว จึงไม่อยู่ในข่ายฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง จึงมีมติยกคำร้อง
ทั้งนี้ ก่อนการเลือกตั้งนโยบายดังกล่าวตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า สามารถทำได้จริงหรือไม่ ขณะเดียวกันสำนักงาน กกต.ก็มีหนังสือแจ้งให้พรรคเพื่อไทย ทำการชี้แจงที่มาของวงเงินที่จะใช้ ความคุ้มค่า ประโยชน์ และ ความเสี่ยงของการดำเนินโครงการตามที่มาตรา 57 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนด ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้ กกต.ดำเนินตรวจสอบความเป็นไปได้ของนโบาย และ เปิดเผยให้ประชาชนทราบ ขณะที่ทั้ง นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ นายสนธิญา สวัสดี ต่างก็มายื่นคำร้องขอให้ กกต.ตรวจสอบ เนื่องจากมองว่านโยบายนี้ไม่สามารถทำได้จริง เข้าข่ายหลอกลวงและสัญญาว่าจะให้ และมองว่าเป็นการกระทำโดยคณะกรรมการบริหารพรรคซึ่งเหตุให้ถูกยุบพรรคได้.