นักวิชาการ ฟันธง! สูตร “ไม่รวมคนต่างด้าว” กระทบแน่ จุดการเมืองแตก ส่อเดือดถึงขั้น “ยุบพรรค”
นักวิชาการ ชี้ สูตรไม่รวม “ต่างด้าว” ใครได้เปรียบ-เสียเปรียบ ชี้ พท.เสียเปรียบในภาคเหนือ ได้ สส.ลดลง ขณะ พื้นที่”เมืองคอน” ปชป.-รทสช.-พปชร. ได้ประโยชน์ ฟันธง ส่อจุดชนวนแตกแยกลามในพรรคการเมือง อาจถึงขั้นต้อง”ยุบพรรค”
นายยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงกรณี ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำว่าราษฎรไม่นับรวมถึงต่างด้าว ทำให้ กกต.ต้องคำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละจังหวัดและแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่รวม 8 จังหวัด ว่าในแง่ของการส่งผลกระทบคือส่งแน่นอนโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย (พท.) มีฐานเสียงอยู่ในภาคเหนือ มีจังหวัดที่จำนวน ส.ส.ลดลง และในขณะเดียวกันจังหวัดในภาคกลางก็มีบางส่วนลดลงไปบ้าง แต่ก็มีจังหวัดในภาคใต้ได้ ส.ส. เพิ่มขึ้นอย่าง จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็เป็นโอกาสของทั้งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และพลังประชารัฐ (พปชร.)
ขณะที่พื้นที่จังหวัดปัตตานีน่าจะเป็นโอกาสของพรรคประชาชาติเป็นหลัก ถามว่าส่งผลบวกลบมากหรือไม่ ก็ไม่ได้มาก เพราะเพิ่มแค่จังหวัดละ 1 ที่เท่านั้น แต่สำหรับพรรคเล็กถ้าเขาได้เพิ่มสัก 1 ที่ก็ถือว่ามีความหมายเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นการเฉพาะหรือไม่ ก็ไม่ถึงขนาดนั้นเพราะกระจายตัวทั้งบวกทั้งลบอยู่ในหลายภูมิภาคเหมือนกัน
แต่ที่แน่ๆ คือส่งผลต่อเรื่องความขัดแย้งภายในของแต่ละพรรคอยู่พอสมควรเลยทีเดียว เพราะ ส.ส.ในเขตเลือกตั้งเหล่านี้ หลายคนลงพื้นที่มาเป็นปีแล้ว และเตรียมพร้อมทั้งในแง่ของฐานทางการเมืองและกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ เอาไว้ในพื้นที่อยู่ไม่น้อย เมื่อต้องมีจำนวน ส.ส.ลดลง แน่นอนว่าจะเกิดประเด็น ปัญหากับผู้สมัครเหล่านี้ ขณะเดียวกันผู้สมัครเหล่านี้ ก็ต้องมีที่อยู่ที่ยืนใหม่ อาจจะจับให้ลงในส่วนของบัญชีรายชื่อ แน่นอนว่าในบัญชีรายชื่อก็จะมีคนได้รับผลกระทบตรงนี้ด้วยเช่นเดียวกัน สิ่งเหล่านี้อาจทำให้บางพรรคเกิดความขัดแย้งได้เช่นเดียวกัน ในพื้นที่ 4 จังหวัดได้ ส.ส.เพิ่มคงไม่มีปัญหา แต่พื้นที่ 4 จังหวัดที่ ส.ส.ลดลงต้องไปบริหารจัดการ
การที่ต้องตีความเรื่องการนับจำนวนประชากรนั้น สะท้อนให้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีการหยิบจับเอาเรื่องของอุดมการณ์มาเป็นจุดหลักในการต่อสู้ เพราะฉะนั้นก็จะมีเรื่องการแข่งขันเข้มข้น มีส่วนหยิบยกทั้งเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัคร เรื่องกติกาการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย หรือ ระเบียบประกาศของ กกต. หลังจากนี้ไปเราจะได้เห็นการต่อสู้เหล่านั้นเข้มข้นมากขึ้น สุดท้ายปลายทางอาจเห็นการยุบพรรค เพราะวันนี้มีการแก้ไขระเบียบยุบพรรคของ กกต. เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ มีการใช้เทคนิคทางการเมืองเหล่านี้มากมาย
จริงๆ แล้วเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้งโดยยึดจำนวนราษฎรนั้น มีการยึดหลักในลักษณะที่ กกต.ทำมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อมีการเปลี่ยนในเรื่องของการวินิจฉัย โดยศาลรัฐธรรมนูญให้คิดคำนวณแบบใหม่ แน่นอนว่าส่งผลทางการเมืองและหลังจากนี้ไปก็ต้องยึดบรรทัดฐานตรงนี้ ดังนั้นในแง่ของกติกาการเลือกตั้ง ก็ควรต้องนิ่ง เพราะหากเปลี่ยนไปมา เรื่องของผลได้ผลเสียทางการเมือง หรือผลกระทบจะเกิดขึ้นกับทั้งพรรคการเมือง ความสับสนของพี่น้องประชาชน หรือแม้กระทั่งการสะท้อนถึงความเป็นตัวแทนอย่างแท้จริงจะไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นบรรทัดฐานหลายๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ก็ต้องมีความชัดเจนและมีเสถียรภาพพอสมควรในการวินิจฉัยและใช้กฎหมายเหล่านี้.