จดปลดไทยปีนี้! พ้น Watch List ทุกบัญชี – สหรัฐฯชมแนวพัฒนาระบบคุ้มครอง/บริหารทรัพย์สินทางปัญญา

​​สหรัฐฯ จ่อปลดไทย พ้นบัญชี Watch List ทุกบัญชี หลังชื่นชมแผนเชิงรุกระบบคุ้มครอง/บริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมเร่งแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร เดินหน้าปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาต่อเนื่อง ยกไทยรักษาสถานะคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา คาดทุกอย่างจบได้สวยภายในปีนี้

​​น.ส.นุสรา กาญจนกูล อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ประกาศสถานการณ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ประจำปี 2568 โดยคงสถานะไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดำเนินการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยอย่างต่อเนื่อง และเตรียมชี้แจงสหรัฐฯ ถึงพัฒนาการและดำเนินการตามแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) เพื่อผลักดันให้ไทยหลุดจากทุกบัญชี

​​“การที่ สหรัฐฯ ได้ชื่นชมการดำเนินการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ซึ่งถือเป็นหัวใจของการมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายลิขสิทธิ์และกฎหมายสิทธิบัตร รวมถึง การกำกับดูแลองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ (Collective Management Organizations: CMOs) ที่กรมฯ ได้อนุญาตให้องค์กรจัดเก็บฯ ที่ได้ดำเนินการตามหลักปฏิบัติที่ดีในการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง (Code of conduct) ใช้เครื่องหมายรับรอง CMOs รวมถึงการบูรณาการหน่วยงานของไทยในการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าของสิทธิ ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ศุลกากร” น.ส.นุสรา กล่าวและว่า…  

สหรัฐฯ ยังคงมีข้อห่วงกังวลบางประการ อาทิ การลักลอบบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์การแอบอ้างสิทธิในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ผ่านการสตรีมและดาวน์โหลด content โดยไม่ได้รับอนุญาต และความล่าช้าในการดำเนินคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดย กรมฯ ได้เร่งพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง

อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ย้ำว่า ข้อกังวลข้างต้นของสหรัฐฯ กรมฯ ได้ดำเนินการสำเร็จไปแล้ว อาทิ การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: WCT) และ การลดระยะเวลาการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา อย่างไรก็ดี กรมฯ มุ่งมั่นผลักดันการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วย การแสดงและสิ่งบันทึกเสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Performances and Phonograms Treaty: WPPT) และการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรเพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (Hague Agreement Concerning International Registration of Industrial Designs: Hague Agreement) และการยกร่างกฎหมายกำกับดูแล CMOs โดยเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ มั่นใจว่าสหรัฐฯ จะพิจารณาให้ไทยหลุดจากบัญชี WL และทุกบัญชี อีกทั้งการดำเนินการดังกล่าวยังเป็นการพัฒนาสภาพแวดล้อมด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสมกับการค้า การลงทุนในยุคปัจจุบัน และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก ท่ามกลางสมรภูมิทางการค้าระหว่างประเทศ

“สำหรับ การเร่งผลักดันให้ไทยหลุดจากบัญชี WL กรมฯ กับ USTR ได้จัดทำแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างรอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อแผนฯ ซึ่งแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญานี้จะเป็นกรอบในการดำเนินการเพื่อให้ไทยหลุดจากบัญชีดังกล่าวและทุกบัญชี และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เห็นถึงความสำคัญของการคุ้มครองและการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี” ​น.ส.นุสรา กล่าวสรุป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password