ค้านปิดถนนกดดันรัฐ ‘นายก ส.ชาวนาฯ’ จี้รัฐเร่งช่วยด่วน! – ‘พาณิชย์’ นัดถก ‘อนุ นบข.’ แก้ราคาข้าวนาปรังตกฮวบ!

“พิชัย นริพทะพันธุ์” มอบหมายกรมการค้าภายใน เร่งจัดประชุม อนุนบข.ด้านตลาด 20 ก.พ.นี้ ก่อนชง นบข.ชุดใหญ่ พิจารณามาตรการช่วยเหลือชาวนาเร่งด่วน คู่ขนานกับเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือก นำร่องที่ จ.อยุธยา 16 – 20 ก.พ. ก่อนขยายไปในพื้นที่ 20 จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา หวังดึงราคาข้าวเปลือกเพิ่ม100-200 บาทต่อตัน ด้าน “นายกสมาคมชาวนาฯ” เห็นใจความเดือดร้อน แต่ไม่อยากให้ชาวนาปิดถนนประท้วงกดดัน วอนรัฐเร่งหาทางช่วยด่วน!

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ กรมการค้าภายใน เร่งจัดประชุม คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ซึ่งตนเป็นประธานฯ และมีหน่วยงานภาครัฐของกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งภาคเอกชน ร่วมด้วย ในวันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาข้าวนาปรังที่ได้รับผลกระทบด้านราคาข้าวขาวในตลาดโลก ก่อนนำเสนอ คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มี นายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน
“กระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินการออกมาตรการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ที่ในช่วงนี้ได้รับผลกระทบทางด้านราคาด้วยเหตุจากสถานการณ์ที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าว ประกอบกับการที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ลดการนำเข้าข้าวด้วย ซึ่งทำให้ข้าวไทยได้รับผลกระทบดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือ โดยสั่งการให้กรมการค้าภายในในฐานะฝ่ายเลขาฯคณะอนุกรรมการข้าวด้านการตลาด เร่งจัดประชุมคณะอนุกรรมการโยบายข้าวแห่งชาติด้านการตลาด เพื่อเสนอมาตรการช่วยเหลือพี่น้องชาวนา ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ นบข. พิจารณาเพื่อให้ได้ข้อสรุปให้พี่น้องเกษตรกรโดยเร็วที่สุด” นายพิชัย ย้ำ

อย่างไรก็ตาม ตนยังมอบหมายให้กรมการค้าภายในดำเนินการคู่ขนานทันทีในการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกปีการผลิต 2567/68 ตั้งแต่ ก.พ.- เม.ย.ปี 2568 โดยมีแผนที่จะจัดตลาดนัดข้าวเปลือกอีก 14 ครั้ง เพื่อดึงราคาข้าวเปลือกให้สูงขึ้น ในพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด คือ อ่างทอง สุรินทร์ สิงห์บุรี พิษณุโลก สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา อุบลราชธานี และนครราชสีมา ตั้งเป้าว่าโครงการตลาดนัดข้าวเปลือกจะช่วยดันราคาขายข้าวของเกษตรกรให้ปรับเพิ่มขึ้นได้ 100-200 บาท/ตัน
โดย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะได้จัดตลาดนัดครั้งที่ 1 ในวันที่ 16-20 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งการจัดตลาดนัดข้าวเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการแข่งขัน ช่วยให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น เป็นการเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร และสร้างอำนาจต่อรองในการกระจายข้าวเปลือกมากขึ้น โดยได้สั่งการให้ กรมการค้าภายในและสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เร่งดำเนินการในพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งข้าวนาปรังทยอยออกสู่ตลาด และจะได้ประสานชาวนาในแต่ละพื้นที่ เพื่อร่วมกันวางแผนกำหนดจุดจัดตลาดนัดข้าวเปลือกให้ตรงกับปริมาณผลผลิตที่ออก และช่วงเวลา ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

ด้าน นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า รู้สึกเห็นใจและเข้าใจถึงความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างมาก ที่ต้องประสบกับปัญหาเรื่องราคาข้าวเปลือกเจ้าตกต่ำลดลงจากสถานการณ์ตลาด แต่ก็ไม่สบายใจ ไม่เห็นด้วยที่พี่น้องเกษตรกรจะมาประท้วงโดยการปิดถนนเพื่อกดดันภาครัฐ เพราะจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ส่วนรวม ซึ่งเรื่องนี้ต้องระมัดระวัง โดยสมาคมฯไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องถึงความเดือดร้อน และแนวทางแก้ไขเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ สมาคมฯได้ผลักดันให้มีการเสนอมาตรการผ่านทางคณะกรรมการแล้ว โดยวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ทางสมาคมฯ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล รมว.กระทรวงพาณิชย์ และ รมว. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้มีการเร่งหาวิธีแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
ส่วนเรื่องปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการเผา และภาครัฐมีมาตรการเข้มงวด ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการบริหารจัดการแปลงนาเพิ่มขึ้นไร่ละประมาณ 500บาท ก็ได้เสนอให้ภาครัฐได้ช่วยเหลือเช่นกัน ในคราวเดียวกัน ในเบื้องต้นทาง กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แจ้งว่าจะมีการประชุมอนุตลาด นบข เพื่อพิจารณาปัญหาดังกล่าว ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ รวมถึงจะมีมาตรการให้จัดตลาดนัดข้าวเปลือกในจังหวัดที่มีปัญหา

สำหรับสถานการณ์ข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ปี 2567/68 คาดว่าจะมีปริมาณรวม 6.53 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 1.08 ล้านตันข้าวเปลือก หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปีก่อนที่มีปริมาณอยู่ที่5.45 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนด้านผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาดแล้วในเดือน กุมภาพันธ์ 2568 โดยจะออกกระจุกตัวช่วง มีนาคม – เมษายน 2568 ประมาณ 68% หรือ 4.42 ล้านตัน สำหรับราคาข้าวเปลือกเจ้า ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 อยู่ที่ 8,300 – 9,000 บาท/ตัน (เฉลี่ยอยู่ที่ 8,650 บาท/ตัน ปรับลดลงเทียบกับ ปีก่อนที่ 12,500 บ/ตัน หรือลดลง30%) ทั้งนี้ ราคาปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ก.ย. 67 เป็นต้นมา เนื่องจากอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวตามปกติ รวมทั้งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีแนวโน้มนำเข้าลดลงจากการเก็บสต๊อกที่เพียงพอแล้ว ทำให้ความต้องการนำเข้าข้าวขาวจากไทยชะลอตัว จึงได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับราคาในปี 2565 ช่วงก่อนที่อินเดียจะงดการส่งออกข้าว
ด้าน สถานการณ์ราคาปัจจุบัน (14 กุมภาพันธ์ 2568) ของข้าวชนิดอื่นๆ ยังคงทรงตัว แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ เฉลี่ย 16,000 บาท/ตัน ปรับเพิ่มขึ้นจาก 14,850 บาท/ตัน (เพิ่มขึ้น 8%) ข้าวเปลือกเหนียว เฉลี่ย13,250 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก 13,300 บาท/ตัน (ลดลง 0.4%) ข้าวเปลือกปทุมธานี เฉลี่ย 12,100 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก14,400 บาท/ตัน (ลดลง 16%) และข้าวเปลือกเจ้า เฉลี่ย 8,700 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก 12,500 บาท/ตัน (ลดลง 30%).