เปิดแหล่งเงินดัน ‘รถไฟฟ้า 20 บาท’ รัฐเตรียมควักจ่าย ‘เอกชน’ ก.ย.68
การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จังหวัดเชียงใหม่ 29 พ.ย.นี้ กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอวาระขออนุมัติขยายมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง)
ทั้งนี้มาตรการเดิมจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 พ.ย.2567 โดยการเสนอขออนุมัติขยายมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าดังกล่าว จะครอบคลุมเป็นเวลา 1 ปี มีผลทันทีถึงวันที่ 30 พ.ย.2568
โดย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอต่ออายุมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ใน 2 โครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ – รังสิต)
และโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่ ออกไปอีก 1 ปี โดยจะครบกำหนดในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2568 โดยทั้งหมดจะใช้งบประมาณ 400 กว่าล้านบาท ส่วนสายอื่นๆ อยู่ระหว่างดำเนินการ
ขณะเดียวกัน กระทรวงฯ ยังอยู่ระหว่างเดินหน้าขยายมาตรการค่าโดยสาร 20 บาทในเกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าทุกสีทุกสายภายในเดือน ก.ย.2568 ซึ่งจำเป็นจะต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. เพื่อจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม ในการจัดหา “แหล่งเงิน” มาชดเชยค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ปรับลดลงให้แก่เอกชนคู่สัญญา
โดยสถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างรอให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม อย่างไรก็ดีกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะสามารถเสนอร่าง พรบ.ตั๋วร่วม เพื่อให้ ครม.พิจารณาได้ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ ก่อนผลักดันตามขั้นตอน และมีผลบังคับใช้ให้รถไฟฟ้าทุกสีทุกสายปรับราคาเดียวกันเป็นค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตามเป้าหมายในเดือน ก.ย.2568
อย่างไรก็ดี ภายในร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. มีการกำหนดถึงแหล่งที่มาของเงินกองทุนฯ ไว้ใน มาตรา 30 โดยกองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
- เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
- เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้
- เงินค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต
- เงินที่ได้รับตามมาตรา 31 ว่าด้วยให้ผู้รับใบอนุญาตนำส่งเงินเข้ากองทุน
- เงินที่ได้รับจากผู้ให้บริการขนส่ง เมื่อมีสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงาน หรือสัญญาร่วมลงทุนแล้วแต่กรณี มีข้อสัญญาให้ผู้ให้บริการขนส่งจะต้องส่งเงินเข้ากองทุน
- เงินค่าปรับทางปกครองตามมาตรา 40
- เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่กองทุน
- ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน
ทั้งนี้ เงินอุดหนุนตาม 2 นั้น ให้รัฐมนตรีดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสมทบเข้ากองทุนในแต่ละปีงบประมาณตามความจำเป็น เงินและทรัพย์สินของกองทุนตามวรรคหนึ่ง ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย จะเกิดส่วนต่างที่รัฐบาลต้องชดเชยเอกชน ซึ่งจากการสอบถามกรมการขนส่งทางราง (ขร.) พบว่า หากดำเนินมาตรการดังกล่าวกับรถไฟฟ้าทุกสีทุกสายตั้งแต่เดือนก.ย.2568 จนครบวาระรัฐบาล ซึ่งเหลืออีกประมาณ 2 ปี ต้องใช้เงินสนับสนุนมาตรการดังกล่าวปีละประมาณ 8 พันล้านบาท หรือรวมประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ ได้พิจารณาแหล่งเงินทุนที่จะมาชดเชยรายได้เอกชนจากส่วนต่างนี้ โดยได้สอบถามไปยังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อนำเงินกำไรสะสมของ รฟม. จากส่วนแบ่งรายได้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ปัจจุบันสะสมราว 1.5 – 1.6 หมื่นล้านบาท นำมาเป็นเงินก้อนแรกสมทบเข้ากองทุนตั๋วร่วม ดังนั้นมั่นใจว่านโยบายนี้จะเกิดขึ้นตามเป้าหมาย
ขณะที่การผลักดันรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายให้เกิดขึ้นระยะยาว ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure fund ขนาดประมาณ 2 แสนล้านบาท เพื่อนำมาซื้อคืนรถไฟฟ้าจากการบริหารของเอกชน
โดยแหล่งเงินที่จะเข้ามาอยู่ในกองทุน Infrastructure fund กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด หรือ Congestion Charge ซึ่งเป็นโมเดลที่หลายประเทศนิยมใช้
รวมไปถึงจะเปิดกว้างระดมทุนจากประชาชน คล้ายกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ Thailand Future Fund (TFF) ซึ่งเมื่อมีกองทุน Infrastructure fund และสามารถนำเงินไปซื้อคืนรถไฟฟ้าได้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้แหล่งเงินชดเชยส่วนต่างเอกชน และจะส่งผลให้รถไฟฟ้ากลับมาเป็นของรัฐ สามารถกำหนดค่าโดยสารในราคาที่ถูกลงได้.