“นพดล” ยัน MOU44 ไม่ได้ยอมรับเส้นไหล่ทวีปกัมพูชา อย่าใช้วาทกรรม “เสียดินแดน” ปั่น

“นพดล ปัทมะ” อดีต รมว.ต่างประเทศ ยัน “เอ็มโอยู 44” ไม่ได้ยอมรับเส้นไหล่ทวีปกัมพูชา ขออย่าใช้วาทกรรมเสียดินแดน จนสร้างความเสียหายเหมือนในอดีต
วันที่ 10 พ.ย.67 นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) อดีตรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่าหลังการปั่นกระแสเสียเกาะกูดซาลงไป ก็ยังมีการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก เอ็มโอยู 44 แล้วทำเอ็มโอยูใหม่ โดยมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงและกฎหมาย 2 ประเด็นใหญ่ คือ ประเด็นแรก กล่าวหาว่าเอ็มโอยู 44 ไปยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศ และจะทำให้ไทยเสียสิทธิทางทะเล ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจาก 4 เหตุผลคือ 1.ไม่มีเนื้อหาของเอ็มโอยู 44 ใดๆเลยที่ไปยอมรับเส้นที่กัมพูชาลาก 2. ฝ่ายไทยไม่เคยมีการกระทำหรือพฤติกรรมไปยอมรับเส้นของกัมพูชา 3.ยิ่งกว่านั้น เนื้อหาในข้อ 5 ของเอ็มโอยู 44 ระบุไว้ชัดเจนว่าตราบใดที่ยังไม่มีข้อตกลงเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล ให้ถือว่า เนื้อหาเอ็มโอยู 44 และการเจรจาตาม เอ็มโอยู 44 จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของทั้งไทยและกัมพูชา

และ 4. แผนผังแนบท้ายเอ็มโอยูระบุไว้ทั้ง 2 เส้นที่ไทยและกัมพูชาต่างอ้างสิทธิ์ ถ้าตีความว่าการทำเอ็มโอยูเท่ากับไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา มันก็ต้องตีความในทำนองเดียวกันว่ากัมพูชายอมรับเส้นที่ไทยยึดถือด้วยใช่หรือไม่ ซึ่งกรมสนธิสัญญาและกฎหมายแถลงไปแล้วว่าเอ็มโอยูเป็นเพียงข้อตกลงไปเจรจา ไม่ใช่เป็นการยอมรับเส้นของอีกฝ่าย

ส่วนประเด็นที่สอง ที่กล่าวหาว่าถ้ารัฐบาลนี้เจรจากับกัมพูชาแล้วขุดน้ำมันและแก๊สในพื้นที่พัฒนาร่วมมาใช้ก่อน จะทำให้ไทยเสียสิทธิในเขตทางทะเลแน่ เรื่องนี้ทฤษฎีถูก แต่ข้อสันนิษฐานผิด เนื่องจากรัฐบาลและคณะกรรมการเจทีซีจะทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะการเจรจา ก) แบ่งเขตทางทะเล และ ข) พื้นที่พัฒนาร่วมหรือ JDA ต้องทำคู่ผูกติดกันไป แยกจากกันไม่ได้ ตามที่ระบุในข้อ 2 ของ เอ็มโอยู 44 นี่คือข้อดีของเอ็มโอยู แล้วจะเรียกร้องให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 ทำไม ทั้งๆที่มันป้องกันความกังวลของคนคัดค้าน มันย้อนแย้ง

นอกจากนั้น ถ้ายกเลิกเอ็มโอยู44 จะมีผลตามมาคือ 1. การประกาศเขตไล่ทวีปของแต่ละฝ่ายยังคงอยู่ พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน 26,000 ตร.กม.จึงยังคงอยู่ 2. ไทยและกัมพูชาไม่สามารถเข้าไปสำรวจขุดเจาะน้ำมันและแก๊สในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนได้ 3. ทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีความผูกพันที่จะต้องเจรจาเรื่องแบ่งเขตทางทะเลและพัฒนาร่วมควบคู่กันไป ซึ่งไม่เป็นผลดี และ 4.ถ้ายกเลิก ข้อผูกพันให้มีการเจรจาเรื่องแบ่งเขตทางทะเลตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ตามที่ระบุในข้อ 3 ของเอ็มโอยูก็จะสิ้นผล ซึ่งเมื่อไทยไม่ยอมรับเส้นของกัมพูชา นี่คือช่องในการเจรจาให้ได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์

นายนพดล กล่าวต่อว่า ในประเด็นเอ็มโอยู 44 นี้ คนที่สงสัยโดยสุจริตก็มี แต่น่าเสียดายที่มีหลายคนที่ในอดีตเคยร่วมสร้างวาทกรรมเสียดินแดนในปี 2551 เพื่อหวังล้มรัฐบาลที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ โดยใช้ความเท็จใส่ร้ายว่าตนซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ทำให้ไทยเสียปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาทั้งๆที่ไทยยกปราสาทให้กัมพูชาตามคำตัดสินศาลโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 2505 ซึ่งข้อเท็จจริงในปี 2551 คือกัมพูชาเอา 1.ตัวปราสาท และ 2.พื้นที่ทับซ้อนไปขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่รัฐบาลไทยเจรจาจนกัมพูชายอมตัดพื้นที่ทับซ้อนออก และยอมขึ้นทะเบียนมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาทซึ่งเป็นของเขามาเกือบ 50 ปีแล้ว แต่ตนถูกโจมตีใส่ร้ายเท็จและไปฟ้องเอาผิดตน

ซึ่งต่อมาในปี 2558 ศาลฎีกาฯก็ได้พิพากษายกฟ้องตนและในคำพิพากษาก็ได้ระบุว่าสิ่งที่ตนทำถูกต้องตามสถานการณ์ ไม่กระทบสิทธิในดินแดนของไทยและไทยจะได้ประโยชน์จากการกระทำของตน จึงไม่อยากเห็นการสร้างวาทกรรมเสียดินแดนอีก เพราะเคยสร้างความเสียหายให้ประเทศเมื่อครั้งจุดประเด็นเรื่องเขาพระวิหารในปี 2551 ซึ่งทำให้มีการปะทะตามแนวชายแดน มีทหารเสียชีวิต และทำให้ในปี 2554 กัมพูชากลับไปยื่นตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 2505 ส่งผลให้ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาเสื่อมทรามลงในเวลานั้น

“ภายหลังรัฐประหารปี 2557 ก็มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน OCA ตามกรอบเอ็มโอยู 44 จนถึงปี 2566 เกือบ 8 ปี ซึ่งก็เป็นการทำตามกรอบที่เหมาะสม แต่ตอนนี้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ยกเลิกสิ่งที่พวกตนเคยใช้ดำเนินการ ประชาชนน่าจะคิดได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ ตนเห็นว่าหากมีข้อห่วงใยโดยสุจริตควรส่งไปยังรัฐบาลดีกว่ากล่าวหาและบิดเบือนประเด็น” นายนพดล กล่าว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password