‘ราเกซ สักเสนา’ เจ้าของฉายา ‘พ่อมดการเงิน’ พ้นโทษ บก.ปอศ.ผลักดันออกนอกประเทศ
“ราเกซ สักเสนา” ได้รับพระราชทานอภัยโทษ พ้นโทษแล้ว ผลักดันออกนอกประเทศ ปิดฉากตำนาน “พ่อมดการเงิน” ผู้สร้างความเสียหายกว่า 80,000 ล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2567 ตำรวจกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ได้ไปรับตัว นายราเกซ สักเสนา (Rakesh Saxena) เจ้าของฉายา “พ่อมดการเงิน” สัญชาติอินเดีย ผู้ต้องขังในคดียักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ (บีบีซี) ออกจากเรือนจำ เพื่อผลักดันออกนอกประเทศ
หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฏาคม 2567 โดยได้ส่งตัวนายราเกซไปยังกองกำกับการ 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (บก.สส.สตม.) เพื่อดำเนินการผลักดันออกนอกประเทศตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ต่อไป
นับเป็นการปิดฉากชีวิตพ่อมดการเงินในประเทศไทย จากการปล่อยสินเชื่อให้แก่นักธุรกิจและนักการเมืองเพื่อเข้าเทกโอเวอร์บริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีกำไรจากการซื้อมา-ขายไป จนเกิดหนี้เน่ามากกว่า 80,000 ล้านบาท และเป็นต้นเหตุที่ทำให้บีบีซีปิดกิจการ
สำหรับนายราเกซ สักเสนา เป็นชาวเมืองอินดอร์ รัฐมัธยประเทศ อดีตโบรกเกอร์ค้าเงิน เป็นผู้ต้องขังคดีหมายเลขแดงที่ อ 4138/2559 ในความผิดฐานพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คดียักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือ บีบีซี ระหว่างปี 2537-2539 ขณะดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งขณะนั้นคือนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์
โดยกระทำการทุจริตอนุมัติวงเงินสินเชื่อเกินบัญชี (โอดี) กับ บริษัท สมประสงค์ อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และเอกชนอื่นร่วม 10 แห่ง เกินกว่า 30 ล้านบาท โดยไม่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการสินเชื่อ หรือคณะกรรมการบริหารของธนาคารก่อน อีกทั้งไม่ได้จัดให้มีหลักประกัน ไม่มีการวิเคราะห์ฐานะของลูกหนี้ และความสามารถในการชำระหนี้คืน อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ จำเลยและพวกยังได้ร่วมกันแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ร่วมกันเบียดบังเอาเงินของธนาคารผู้เสียหาย (บีบีซี) ซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายเกริกเกียรติ ไปเป็นของจำเลยกับพวกและนายเกริกเกียรติโดยทุจริต แม้ภายหลังจำเลยกับพวกได้ชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายบางส่วน แต่คงเหลือเงินที่ยังไม่ได้คืนผู้เสียหาย 353,363,966 บาท
คดีนี้ต่อสู้กันสามศาล ในที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 จำคุกกระทงละ 5 ปี และปรับกระทงละ 500,000 บาท โดยมีสำนวนแรก 60 กระทง สำนวนที่สอง 6 กระทง และสำนวนที่สาม 1 กระทง รวม 67 กระทง รวมจำคุก 335 ปี และปรับ 33,500,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุก 20 ปี และสั่งคืนเงินผู้เสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้นายราเกซหลบหนีคดีไปยังประเทศแคนาดา ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2539 แม้ทางการไทยได้ประสานงานกับแคนาดาขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน แต่นายราเกซได้ให้ทนายความยื่นคัดค้าน ใช้ระยะเวลาพิจารณาถึง 13 ปี กระทั่งวันที่ 29 ต.ค. 2552 ศาลฎีกาแคนาดามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา และส่งตัวมาถึงประเทศไทยด้วยเที่ยวบิน TG 615 เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2552 ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาเมื่อปี 2555 จำคุกนายราเกซ 10 ปี และต่อสู้คดีเรื่อยมา กระทั่งคดีถึงที่สุดเมื่อปี 2565 รวมระยะเวลาที่รับโทษในประเทศไทย 15 ปี.