ซีพี ออลล์ รวมพลังต่อต้านคอร์รัปชัน 2567 สร้างอนาคตที่ยั่งยืนและมั่นคง

ซีพี ออลล์ นำพนักงานและเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่ด้านธรรมาภิบาล รวมพลังต่อต้านคอร์รัปชัน 2567 ส่งเสริมความโปร่งใสในการทำงาน ร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและมั่นคงให้กับประเทศ ประชาชน และองค์กร ประกาศเดินหน้านโยบายต่อต้านการให้/รับสินบนทั้งทางตรงและทางอ้อม ย้ำ! ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมทุกการคอร์รัปชัน

องค์การสหประชาชาติให้ความหมายคอร์รัปชัน คือ ไม่ใช่แค่พฤติกรรม แต่เป็นปรากฏการณ์ (phenomenon) ในทางสังคม การเมืองและเศรษฐศาสตร์ ที่เป็นปัญหาสำคัญและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก (UNODC, 2009) และองค์กรระหว่างประเทศด้านความโปร่งใส Transparency International (TI)​ ให้นิยามคำคอร์รัปชัน คือ การใช้อำนาจที่ได้รับความไว้วางใจในทางที่ผิด (abuse of entrusted power) เพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลซึ่งใช้ได้ทั้งภาครัฐและเอกชน

คณะผู้บริหารซีพี ออลล์-เซเว่น อีเลฟเว่น ตระหนักถึงปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทย ที่เกิดจากหลายปัจจัยประกอบกัน จึงได้นำทีมพนักงาน พร้อมตัวแทน Mister & Miss Good Governance หรือเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่ด้านธรรมาภิบาล (MMGG) ร่วมแสดงพลังต้านโกง เนื่องใน “วันต่อต้านคอร์รัปชัน” 6 กันยายน ในธีมโกงแบบโปร่งใส ESG… G เหมือนมีแต่มองไม่เห็น โดยร่วมแสดงพลังผ่านช่องทาง Facebook LIVE ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

นางสาวกรณิศ ธนสุนทรกิจ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า “ซีพี ออลล์ และบริษัทย่อย ยึดมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความ ซื่อสัตย์โปร่งใส และเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และเพื่อเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่น ดังกล่าว บริษัทฯ มีนโยบายต่อต้านการให้หรือรับสินบนและการคอร์รัปชันอย่างสิ้นเชิง และจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการคอร์รัปชันและการให้/รับสินบนทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งมุ่งมั่นที่จะนำระบบที่มีประสิทธิผลมาใช้ในการต่อต้านการให้หรือรับสินบนและคอร์รัปชัน ตลอดจนบริษัทได้รับการรับรองการเป็นสมาชิก “แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการ ต่อต้านการทุจริต” เพื่อสร้างมาตรฐานการประกอบธุรกิจที่ใสสะอาด”

“ซีพี ออลล์ มีคาถาบรรษัทภิบาล ซื่อสัตย์ โปร่งใส ยุติธรรม คำนึงถึงชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางให้ผู้บริหารและพนักงานในบริษัททุกคนใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อร่วมกันสร้างค่านิยมในการดำเนินงานที่ปราศจากการคอร์รัปชันให้เป็นวัฒนธรรมขององค์กร เป็นหนึ่งหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจของซีพี ออลล์” นางสาวกรณิศกล่าวเพิ่มเติม

การจะขจัดคอร์รัปชันของประเทศไทย ต้องมีการประสานความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคเอกชน ในการบริหารจัดการสมการคอร์รัปชัน ด้วยการส่งเสริมความโปร่งใสและการทำงานที่ปราศจากคอร์รัปชันเพื่อร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและมั่นคงให้กับประเทศ ประชาชน และองค์กร

ด้าน ซีพี ออลล์ ให้ความสำคัญอย่างมากกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันภายในและภายนอกองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และจัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรทุกหน่วยงาน ทุกระดับชั้น เพื่อตอกย้ำให้พนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกได้รับรู้ถึงช่องทางในการรับแจ้งเบาะแสหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน ตลอดจนสร้างเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่ด้านธรรมาภิบาล Mister & Miss Good Governance เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงออกถึงแนวคิดเรื่องธรรมาภิบาลที่ทันสมัย ช่วยส่งเสริมธรรมาภิบาลขององค์กรอย่างยั่งยืน

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (แห่งประเทศไทย) ได้กำหนดให้วันที่ 6 กันยายน ของทุกปีเป็น ‘วันต่อต้านคอร์รัปชัน’ เพื่อปลุกจิตสำนึกคนไทยให้ไม่ทนต่อการทุจริต และกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมเกิดการตื่นตัว และลุกขึ้นมาร่วมใจกันต่อต้าน และขจัดปัญหาคอร์รัปชันให้หมดไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password