ศุลกากรบุกค้นโกดังย่านบางบอน – สกัด ‘เครื่องใช้ไฟฟ้าไร้มาตรฐาน’ จากจีน ก่อนหลุดขายในท้องตลาด

กรมศุลกากรขานรับนโยบายรัฐ เดินหน้าเร่งปราบปรามสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ล่าสุด! บุกค้นโกดังย่านบางบอน พบเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่มี มอก. มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท ด้าน “โฆษกฯพันธ์ทอง” เผย! หากสินค้าไม่ได้มาตรฐานคุณภาพหลุดรอดปล่อยไปขายในท้องตลาดได้ ไม่เพียงเป็นอันตรายต่อชีวิตประชาชน หากยังต่อผู้ประกอบการสุจริตและสินค้าที่ได้มาตรฐานแน่!

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะ โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าราคาต่ำ สินค้าไม่มีคุณภาพและไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำหน่ายในประเทศ กรมศุลกากร จึงได้ขานรับนโยบายข้างต้น โดย นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร กำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเข้มงวดกวดขันในการป้องกันและปราบปรามการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาเพื่อจำหน่ายจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้มีการขอหมายศาลเข้าตรวจค้นจับกุมสินค้าไม่ได้มาตรฐานจากโกดังที่เก็บสินค้าเพื่อรอการจำหน่ายได้เป็นจำนวนมาก และยังมีการเพิ่มอัตราสุ่มเปิดตรวจตู้คอนเทนเนอร์สินค้า เพื่อป้องกันมิให้สินค้าที่อาจไม่ได้มาตรฐานผ่านออกจากอารักขาของกรมศุลกากรก่อนได้รับการอนุญาตจาก สมอ. กระทรวงอุตสาหกรรม อีกด้วย

โดยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้ออกปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำสินค้าที่ไม่ผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร ด้วยการลงพื้นที่เข้าตรวจค้นโกดังเก็บสินค้าแบ่งให้เช่าในพื้นที่ซอยโพธิ์พุฒตาล 2 ถนนพรหมราษฎร์ แขวงบางบอนใต้ เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร ผลการตรวจค้น พบสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ อาทิ พัดลม หม้อหุงข้าว เตาปิ้งย่าง หลอดไฟฟ้า รวมจำนวน 9,830 ชิ้น มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และไม่พบเอกสารหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากร กรณีนี้ เป็นความผิดตามมาตรา 242 และ 246 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

“หากสินค้าเหล่านี้ นำไปจำหน่ายยังท้องตลาดย่อมเป็นอันตรายต่อประชาชน อีกทั้งการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานในราคาที่ต่ำนี้ ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการสุจริตที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐานอีกด้วย โดยกรมศุลกากรยังได้ทำการอายัดสินค้า ณ ท่า/ที่ที่นำเข้าเพื่อรอผลการพิจารณาอนุญาตจาก สมอ. เป็นจำนวนมาก หากสินค้าที่อายัดไว้นั้นไม่ได้คุณภาพตามที่ สมอ. กำหนด จะสั่งให้ดำเนินการส่งกลับไปยังประเทศต้นทางตามแนวทางที่ สมอ. กำหนดต่อไป โฆษกกรมศุลกากร ย้ำ

สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 23 สิงหาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ทั้งสิ้น 26 คดี จำนวน 241,801 ชิ้น มูลค่ารวม 68.55 ล้านบาท.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password