กรมศุลฯแจงปมเคลียร์คดีซากสัตว์ตกค้าง ยันประสาน ‘ดีเอสไอ’ แก้สารพัดเนื้อ-เครื่องในสัตว์หนีภาษี
กรมศุลกากรชี้แจงข้อเท็จจริงการดำเนินคดีอาญาและการดำเนินการกับซากสัตว์ตกค้างตามกฎหมายศุลกากร เผย! พบของค้างบัญชีเรือเกิน 30 วัน แบบไร้ใบขนสินค้า/ไม่เสียภาษี/ไม่วางเงินประกันฯ หลังเปิดตัวพบเนื้อหมูและเครื่อง รวมถึงเครื่องในวัว-ควาย และชิ้นส่วนไก่รวมกันนับร้อยตู้คอนเทนเนอร์ หวั่นกระทบภาคเอกชนและเกษตรกร พร้อมประสานดีเอสไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาแล้ว
ตามที่ กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ทำการสำรวจของค้างบัญชีเรือที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรเกินกำหนดเวลา 30 วัน โดยไม่มีใบขนสินค้าอันรับรองและไม่ได้เสียอากรหรือวางเงินประกันค่าอากรที่พึงเรียกเรียกเก็บแก่ของ นั้น รวมถึง ไม่มีผู้ใดมาแสดงความเป็นเจ้าของ จึงได้ทำการเปิดสำรวจและพบว่าเป็นสินค้าประเภทซากสัตว์ เช่น เนื้อโค เครื่องในโค เนื้อกระบือ เครื่องในกระบือ ชิ้นส่วนไก่ เนื้อสุกร เครื่องในสุกร ซึ่งเป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ จำนวน 235 ตู้ จึงเป็นของตกค้างตามกฎหมายศุลกากร
กรมศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ดำเนินการตามกฎหมายศุลกากร ระเบียบเกี่ยวกับพิธีการศุลกากรว่าด้วยของตกค้าง และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยตู้สินค้าประเภทเนื้อสุกร เครื่องในสุกร จำนวน 161 ตู้ ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดโดยไม่ยินยอมให้ทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร และได้ดำเนินการทำลายเนื้อสุกรและเครื่องในสุกร ดังกล่าว ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสภาเกษตรกร จนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 คงเหลือตู้สินค้าประเภทเนื้อโค เครื่องในโค เนื้อกระบือ เครื่องในกระบือ ชิ้นส่วนไก่ จำนวน 74 ตู้
ต่อมา จากการสำรวจของตกค้างเพิ่มเติม พบสินค้าประเภทเนื้อสุกร เครื่องในสุกร อีกจำนวน 17 ตู้ รวมเป็น 91 ตู้ โดยสินค้าประเภทเนื้อโค เครื่องในโค เนื้อกระบือ เครื่องในกระบือ ชิ้นส่วนไก่ จำนวน 74 ตู้ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังได้ส่งมอบให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการทำลายตามระเบียบของกรมปศุสัตว์ซึ่งเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมปศุสัตว์และกรมศุลกากรเรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีที่มีการจับกุมดำเนินคดีลักลอบนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักร
สำหรับ สินค้าประเภทเนื้อสุกร เครื่องในสุกร จำนวน 17 ตู้ กรมศุลกากรได้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มาตรวจสอบของกลางดังกล่าวแล้ว ณ ท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กรมศุลกากรตระหนักถึงความกังวลและความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรภายในประเทศจากราคาสุกรภายในประเทศที่ตกต่ำ จึงได้สั่งการและกำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดตรวจสอบการนำเข้าสินค้าประเภทสุกรรวมถึงสินค้าเกษตรอย่างเข้มงวดในขณะเดียวกันได้บูรณาการและประสานงานกับหลายหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนมาโดยตลอดเพื่อแก้ไขปัญหา ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินการทางคดีอาญา และเพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามการนำเข้าสินค้าประเภทของที่ผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด ตามนโยบายของกรมศุลกากร.