ก.พาณิชย์ นำ ‘ผู้แทนฯสหรัฐ-อียู’ รณรงค์ต่อต้านสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

สิ่งที่ยังค้างคาใจของทั้ง รัฐบาลไทยและผู้ประกอบการ “ส่งออก” ของไทย จากปมปัญหาที่ ประเทศไทยถูกขึ้น “บัญชีดำ” กลายเป็นประเทศที่ต้องถูกจับตามอง (Watch List : WL) ในเวทีการค้าโลก เพียงเพราะมีผู้ประกอบการบางส่วนในประเทศไทย ได้ทำการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้าแบรนด์ต่างชาติมาอย่างต่อเนื่อง นั้น

สิ่งนี้…กำลังจะถูกทำลายลงไปในอีกไม่ช้า หลังจากทางการไทย โดยเฉพาะ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ที่ได้ทำการรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ค้า ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และประชาชนคนไทย ได้ตระหนักและเคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และ เพื่อให้นานาชาติ ได้รับรู้ถึงจุดยืนทางการของไทย เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญามีประสิทธิภาพมากขึ้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 กรมทรัพย์สินทางปัญญา โดย นายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ รองอธิบดีฯ ได้เชิญชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจาก ภาครัฐ อาทิ ตัวแทนกองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร และ เอกชนเจ้าของสิทธิ รวมถึง ผู้แทนจากประเทศคู่ค้า จากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เข้าร่วมกิจกรรมเดินรณรงค์ต่อต้านการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ในศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จับตามองของประเทศคู่ค้ามากที่สุด

“กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ทำการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำงานร่วมกันทั้งในด้านการปราบปรามและการรณรงค์ โดยจะกระจายพื้นที่ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อเน้นย้ำกับนานาชาติว่า ทางการไทยไม่ได้นิ่งนอนใจในการปกป้องเจ้าของสิทธิ และที่สำคัญยังเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ถึงอันตรายที่อาจเกิดจากการใช้สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่ได้มาตรฐาน สิ่งนี้ เราได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติ ถึงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาของทางการไทยเป็นอย่างดี” นายอาวุธ กล่าวและว่า..

หากประเทศไทยถูกถอดออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง ตามรายงานสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ของผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ได้ในปี2567 ซึ่งจะมีการประกาศในช่วงปลายเดือนเมษายน 2567 เชื่อว่าจะยิ่งส่งผลดีต่อบรรยากาศการค้าและดึงดูดการลงทุนจากนานาชาติได้มากกว่าที่เป็นอยู่

สำหรับ สถิติการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หากเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด ถือว่ามีแนวโน้มลดลง เพราะการละเมิดไปสู่ออนไลน์มากขึ้น ทำให้การตรวจจับหน้าร้านลดลง ทั้งนี้ ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีการปราบปรามและดำเนินคดีละเมิดทรัพย์สินทรัพย์สินทางปัญญาจำนวน 1,515 คดี ยึดของกลางได้ 2,157,434 ชิ้น มูลค่าความเสียหาย 1,218,373,215 บาท โดยเป็นของกลางจากการจับกุมและตรวจยึดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร และกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำหรับ ในช่วง 2 เดือนแรกปี 2567 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ / กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกรมศุลกากร พบว่ามีการปราบปรามและดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวม 199 คดี ลดลง 24% ของกลางรวมกว่า 189,000 ชิ้น

ขณะที่ นายสมพล ตรีภพนารถ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจศูนย์การค้า บมจ.เอ็ม บี เค (MBK) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทาง MBK ได้ออกมาตรการที่สำคัญ คือจะยกเลิกการให้เช่าพื้นที่กับร้านค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์การค้าของแบรนด์ต่างประเทศ ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไข จนลดลงเป็นจำนวนมาก โดยร้านค้าที่ถูกยกเลิกสัญญาเช่าเพราะทำผิดทั้งกฎหมายและเงื่อนไขของห้างฯ ได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นร้านอาหาร และโซนการศึกษาเข้ามาแทน ขณะที่เดียวกัน ทาง MBK ก็ได้ทำการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยทำการสร้างแบรนด์ของตนเอง โดยจะเน้นดำเนินการอย่างเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง

อนึ่ง หากพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สามารถแจ้งเบาะแสมายังกองป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร. 02-547-4702 หรือสายด่วน 1368 หรือเว็บไซต์ www.ipthailand.go.th.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password