นักกม.แจ้งตือนโพสต์สิ่งมีชีวิตในสินค้า ระวังเจอโทษ โอกาสเกิดยาก! เพราะเข้าไมโครเวฟ

ดราม่า! พบ “หนอนดิ้นในข้าวกล่อง” กลายเป็นปมข้อกฎหมาย อาจนำอันตรายสู่คนเผยแพร่ – กดแชร์ – กดไลท์ ไม่เว้นแม้คนแห่คอมเม้นท์ เผย! กฎหมายเกี่ยวข้อง หนัก! ทั้งอาญาและแพ่ง ถึงขั้น “สร้างเรื่องเท็จหลอกลวงประชาชน” ยอมความไม่ได้ ด้าน นักกฎหมายดิจิทัลชื่อดัง! เทียบภาพหนอนดิ้นไม่ต่างจากนำเสนอภาพคนตาย แนะเบลอภาพก่อนเผยแพร่ ดีสุดคือแจ้งหน่วยงานเกี่ยวข้องตรวจสอบก่อน “เล่นเอง” พร้อมเตือนคนไทย “ใช้สติมากกว่าอารมณ์” เหตุอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้

กลายเป็นกระแสดังชั่วข้ามคืน หลังจากมี สาวผู้ใช้ชื่อ X โพสต์บอก “เจอหนอนดิ้นได้” ในข้าวกล่อง ภายหลังได้โทรสั่งเดลิเวอรี่มาส่งถึงหน้าบ้าน ทำเอาคนเห็นโพสต์ต่างตั้งข้อสังเกตุว่า จะเป็นไปได้อย่างไร ข้าวกล่องที่ผ่านไมโครเวฟมาจะมีหนอนตัวเป็นๆ ดิ้นได้อย่างที่มีการกล่าวอ้าง

แต่ก็ไม่วายที่มี สื่อสังคมออนไลน์ที่ไถฟีตมาเจอ แล้วนำไปขยายผลต่อกันแบบสนุกปาก โดยไม่ได้พิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หวังเพียงสร้างกระแส สร้างยอด live ยอด View เท่านั้น

กรณีลักษณะนี้ เราจะเห็นบ่อยๆ ในโลกโซเชียล โดยมักจะหยิบเรื่องราวไปเชื่อมโยงกับ ผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ที่สร้างกระแสได้ ทำให้คนชอบแชร์ ชอบ live ที่ก็แชร์กันต่อๆ ไปโดยไม่รู้ ที่มาที่ไป 

เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นได้จริงหรือ? น่าจะเป็นอีกคำถามสำหรับ สังคมวิทยศาสตร์ ที่ยึดถือหลักความจริง เป็นที่ตั้ง? จำเป็นต้องตั้ง “ปุชฉา” เพื่อหา “วิสัชนา” ก่อนที่ทุกอย่างจะบานปลาย…กลายเป็นความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภาคบริการและการท่องเที่ยวของเมืองไทย

แน่นอนว่า…ข่าวทำนองนี้ หลายคนในบางประเทศเพื่อนบ้าน ที่อาจไม่สบายใจเมื่อได้เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ พากันตบเท้ามาเยี่ยมเยือนเมืองไทย ชนิด! แทบไม่เหลือให้แวะไปท่องเที่ยวบ้านเมืองของเขา เมื่อได้เห็นข่าวทำนองนี้ คงช่วยกันกระพือและโหมประโคมกันสนั่นหวั่นไหวเป็นแน่!

ประเด็นคือ…ข่าว “เจอหนอนดิ้นได้” ในข้าวกล่องเดลิเวอรี่ มีโอกาสความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน? เพราะกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นทาง “เจ้าของแบรนด์” ที่ต้องใช้ความร้อนระดับ “ร้อนมาก” ทั้งในขั้นตอนหุงข้าว ปรุงกับข้าว ก่อนบรรจุลงในกล่องข้าว จากนั้น ก็ทำการ “ฟรีซ” (แช่แข็ง) ก่อนส่งต่อมายังปลายทางร้านสะดวกซื้อ เพื่อเสนอให้เป็นทางเลือกต่อผู้บริโภค

ก่อนถึงมือลูกค้า…กล่องข้าวเหล่านี้ ยังคงถูก “ฟรีซ” อยู่ในตู้แช่ จนกว่าจะถูกสั่งมารับประทาน และจะต้องผ่านกรรมวิธีให้ความร้อนด้วยเตาไมโครเวฟเสียก่อน โดยพนักงานจะเจาะรูเล็กๆ แล้วเวฟอย่างน้อย 3 นาที ซึ่งความร้อนมากขนาดทีคนเรายังใช้มือจับไม่ได้นั้น จึงเป็นเรื่องยากมากที่แมลงวันจะมาเกาะหรือเข้าไปวางไข่ ยกเว้นแมลงวันจะหายตัวเข้าไปในกล่องข้าว 

หากพิจารณาจากกระบวนการตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้บริโภคแล้ว โอกาสจะ “เจอหนอนดิ้นได้” ในข้าวกล่อง เช่นที่ สาวผู้ใช้ชื่อ X โพสต์บอก…จึงมีน้อยถึงน้อยมาก ยกเว้น! มีการวางทิ้งข้าวกล่องที่ว่านี้เอาไว้นานหลายชั่วโมง และอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการจะมีแมลงวันมาไต่ตอม

กรณีนี้…ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง หรือเป็นแค่การสร้างคอนเทนต์เพื่อหวังยอดวิวทะลัก! เพียงชั่วข้ามคืน  สิ่งนี้ ย่อมส่งผลสะเทือนต่อทุกฝ่าย ไม่เฉพาะเจ้าของแบรนด์ หรือร้านสะดวกซื้อ ที่แม้ไม่ได้ระบุว่า…ชื่อร้านอะไร? แต่ดูจากภาพกล่องข้าวก็รู้ว่าพาดพิงถึงแบรนด์และร้านสะดวกซื้อกลุ่มไหน? ยี่ห้ออะไร?

เรื่องนี้ หากเป็นจริง! ร้านสะดวกซื้อที่ว่านี้ ควรต้องรับผิดชอบมากกว่าการคืนสินค้าในราคาขายหรือไม่? และหากเป็นเรื่องคอนเทนต์ที่ถูกแต่งขึ้นมาเพื่อสร้างยอดวิวแล้ว คนสร้างเรื่องฯ จะต้องได้รับอะไรกลับคืนไปบ้าง? เราลองไปฟังมุมมองของนักวิชาการด้านกฎหมาย อย่าง นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษาทางกฎหมาย สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย และนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ ว่าจะมีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร?

นายไพบูลย์ บอกผ่าน “ยุทธศาสตร์ออนไลน์” ถึงกระแสข่าวดังกล่าวว่า…มองในมิติทางด้านสังคม แล้ว การนำเสนอภาพข่าว “หนอนดิ้นได้” ที่ปรากฏอยู่ในกล่องข่าวถือว่าไม่เหมาะสม ไม่ต่างจากการนำภาพคนตายมานำเสนอ ผู้โพสต์ควรจะเบลอภาพดังกล่าว ขณะเดียวกัน หากต้องจะสื่อสาร หรือมีข้อสงสัยอะไร ก็ควรนำเสนอในแนวทางที่ว่า “มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคม” จากนั้น ควรจะส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบ แทนการนำเสนอข่าวสารข้อมูลสู่สังคมผ่านโซเชียลมีเดีย โดยไม่มีการปิดบังภาพที่ไม่เหมาะสม 

ในทางวิทยาศาสตร์ หากจะพิสูจน์ทราบให้ได้ว่าปรากฏการณ์ “หนอนดิ้นได้” มีอยู่จริงหรือไม่? ส่วนตัวเชื่อว่าคงทำได้ไม่ยากนัก เนื่องจากกระบวนการในการผลิตข้าวกล่องพร้อมทาน เริ่มตั้งแต่กรรมวิธีในการหุงข้าวให้สุก รวมถึงการปรุงกับข้าวที่ต้องมีการใช้ความร้อนที่สูงมากๆ จนถึงขั้นตอนบรรจุภัณฑ์ที่จะต้องฟรีซ (แช่แข็ง) ก่อนจะนำไปอุ่น (เวฟ) ด้วยความร้อนอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะบริโภค ดังนั้น การจะเกิดเหตุการณ์ “เจอหนอนดิ้นได้” ในข้าวกล่อง จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากสิ่งมีชีวิตจะไม่สามารถอาศัยอยู่ในนั้นได้เลย

“กรณีนำข่าวดังกล่าวเผยแพร่ออกไป มันจึงเป็นที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง จึงอยากให้สังคมใช้หลักคิดทางด้านเหตุผล มากกว่าจะใช้อารมณ์ความรู้สึกในการสร้างหรือแชร์คอนเทนต์ใดๆ ออกไป” ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม หากพิสูจน์ในภายหลังว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นเรื่องจริง แต่มีการสร้างเรื่องเท็จขึ้นมา ก็จะถือเป็นความผิดในทางกฎหมาย เพราะได้สร้างหรือตัดต่อข่าว และ/หรือ ภาพข่าวในลักษณะ “ข่าวปลอม” (Fake News) โดยหากนำไปเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตก็จะผิด กฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาทด้วยความโฆษณา แม้ผู้ผลิตและเผยแพร่จะไม่ได้ระบุว่า ใครเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้า และใครเป็นร้านสะดวกซื้อที่เป็นช่องทางการจัดจำหน่าย ก็ตาม

ในทางข้อกฎหมายถือว่า…เจ้าของแบรนด์สินค้า และร้านสะดวกซื้อ คือ ผู้เสียหายจากการเผยแพร่ข่าวในลักษณะนี้แล้ว และสามารถจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตและเผยแพร่คลิป หรือข้อความข่าว รวมถึงสื่อกระแสหลักที่นำข่าวดังกล่าวไปเสนอและเผยแพร่ต่อ ไม่เว้นแม้กระทั่ง ประชาชนทั่วไปที่กดไลท์ กดแชร์ และแสดงความคิดเห็น (คอมเม้นท์) ในโซเชียลมีเดีย และหากพบว่า มีการตัดต่อและบิดเบือน จะมีความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทาความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560) อีกข้อหาหนึ่ง

“ในส่วนของการกดไลท์ กดแชร์ และคอมเมนท์ หากพบว่าเราได้ทำพลาดและมีการตักเตือนหรือชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้อง สิ่งที่ดีที่สุดไม่ว่าข้อเท็จจริงนั้นจะเป็นเช่นใด จะถูกหรือผิด การลบออก (รีมูฟ) ก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการเซฟตัวเราเอง” ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวทิ้งท้ายเป็นการเสนอแนะทางออกให้กับสังคมไทยยามนี้.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password