ป.ป.ช.ภาค 6 – ป.ป.ช.ตาก ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการทุจริต การบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ
สํานักงาน ป.ป.ช.ภาค 6 ร่วมกับ สํานักงาน ป.ป.ช.จ.ตาก ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ ในเขตพื้นที่จ.ตาก
นายสนธยา ยาพิณ ผู้อํานวยการสํานักงาน ป.ป.ช. ประจําจังหวัดตาก กล่าวว่า การขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติเป็นการดําเนินงานอย่างต่อเนื่องภายหลังจากเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ ซึ่งสํานักงาน ป.ป.ช.ประจําจังหวัดตาก ได้มีการดําเนินการเชิงรุกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติในพื้นที่จังหวัดตากอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่จํานวน 2 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช อําเภอเมืองตาก และ อุทยานแห่งชาติขุนพะวอ อําเภอแม่ระมาด
ทั้งนี้มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีนั้น เพื่อให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นําข้อเสนอดังกล่าวไปปรับใช้ใน 3 ส่วน ประกอบด้วย
1.ด้านการจัดเก็บเงินรายได้เพื่อบํารุงรักษาอุทยานแห่งชาติอาทิ ให้พัฒนาระบบการจัดเก็บเงินค่าบริการและระบบการจองล่วงหน้าสําหรับบุคคลที่เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การใช้บัตรเข้ารับบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E – Ticket) การซื้อบัตรล่วงหน้าแบบออนไลน์ เป็นต้น พร้อมจัดทําระบบการรายงานผลจํานวนนักท่องเที่ยวที่เข้า – ออกอุทยานแห่งชาติ แบบทันทีและตลอดเวลา (Real Time)
2.ด้านการพิจารณาและอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบํารุงรักษาอุทยานแห่งชาติอาทิ ปรับปรุงระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบํารุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ 2560 โดยให้องค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณาการใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบํารุงรักษาอุทยานแห่งชาติมีตัวแทนจากหน่วยงานภายนอกและผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ร่วมด้วย หรือกรณีมีการต้องเบิกจ่ายเร่งด่วน เห็นควร กําหนดกรอบการใช้ดุลพินิจของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบํารุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ข้อ 13 วรรคสอง กรณีการอนุมัติโดยกรณีจําเป็นเร่งด่วนให้มีหลักเกณฑ์และแนวทางที่มีความชัดเจนว่าควรใช้ในเรื่องใดบ้าง รวมทั้งควรกําหนดวงเงินงบประมาณและระยะเวลาในการใช้เป็นต้น
3.ด้านการบริหารจัดการ ให้มีการจัดทําแผนแม่บทการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติในทุกอุทยานแห่งชาติโดยกระบวนการจัดทําแผนแม่บทดังกล่าวต้องใช้การมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ภาคประชาชน ภาคเอกชน เป็นต้น เพื่อให้แผนแม่บทมีความครอบคลุมภารกิจสําคัญ มีทิศทาง เป้าประสงค์และยุทธศาสตร์ตลอดจนปัจจัยหลักแห่งความสําเร็จที่ชัดเจนและอุทยานแห่งชาติสามารถใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล รวมถึงกําหนดระบบการสรรหาและหลักเกณฑ์ในการดํารงตําแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติด้วยความโปร่งใสเป็นมาตรฐาน และสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล
สํานักงาน ป.ป.ช. ประจําจังหวัดตาก จะได้ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนมาตรการข้างต้น มุ่งให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความโปร่งใสในการบริหารจัดการอุทยานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป.