ล้อมคอกสกัดภัยไซเบอร์ ชงอำนาจค่ายมือบล็อกใช้งาน ก่อนเหยื่อถูกสูบเงินหมดตัว
กมธ.ไอที ส.ว. นำธงถกหลายหน่วยงาน ประกาศจุดยืน! มคุมเข้มภัยไซเบอร์ เผย! ที่ประชุมฯเสนอแก้ไขกฎหมาย ชงอำนาจให้ผู้ประกอบการค่ายมือถือ สามารถระงับการใช้งานเหมือนกับแบงก์อายัดเงิน พร้อมเดินหน้าเร่งเครื่องตั้ง แพลทฟอร์ม “กันกวน Plus” แนะ ตั้ง อสด. เติมความรู้ เตือนภัยโซเชียลในชุมชนโดยเร็ว
ผู้สื่อข่าวรายงาน การประชุมคณะทำงานศึกษาติดตามการบังคับใช้ พรก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ใน กมธ.เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2566 ที่ผ่านมา ว่า ที่ประชุมร่วมของคณะทำงานฯ ร่วมกับ ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กสทช. ผู้บริหารค่ายมือถือ ดีแทค เอไอเอส ทรู บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เฝ้าติดตามสถิติการติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด การอายัดเงินและเรียกเงินคืนแก่ผู้เสียหาย (มาตรา 6 และมาตรา 7) การเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าระหว่าง สถาบันการเงินกับผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรา 4 วรรคหนึ่ง)
โดยหลังจาก พ.ร.ก. ป้องกันภัยไซเบอร์ บังคับใช้มาตั้งแต่ 11 พ.ค. 66 ได้มีหลายหน่วยงานบูรณาการตั้งวอรูมร่วมกัน ทั้งกระทรวง DES , DSI, ปปง. สถาบันการเงิน, ค่ายมือถือ เพื่อส่งข้อมูลเอกสารผ่าน E-mail ให้กับหน่วยงานต่างๆ ไม่ต้องรอหมายศาล เมื่อเจอเหตุอันควรสงสัย ช่วยระงับเหตุอย่างรวดเร็ว เมื่อประชาชนเจอปัญหาหลอกลวงผ่านไซเบอร์ จากเดิมต้องใช้เวลา 3-5 วัน ลดเหลือ 1 วัน สามารถช่วยแก้ปัญหาโอนเงินไปยังบัญชีม้า ได้รวดเร็วมากขึ้น จากนั้นเฟส 2 หลายหน่วยงานกำลังพัฒนาระบบ รองรับการร้องเรียน เพื่อเข้าระงับเหตุได้ทันท่วงทีมากขึ้น
โดย ที่ประชุมฯ เสนอให้มีการคุมเข้มการลงทะเบียนซิมการ์ด สำหรับผู้ใช้บริการมากกว่า 5 ซิมการ์ดต่อราย โดยต้องยืนยันตัวตนกับศูนย์บริการค่ายมือถือผ่านบัตรประชาชน ขณะที่ กสทช. จับมือกับค่ายมือถือทุกแห่ง เตรียมสร้างแพลทฟอร์มใหม่ ยกระดับจาก “แอป กันกวน” เพิ่มเป็น “กันกวน Plus” รับข้อร้องเรียน การปิดกั้น เบอร์โทรศัพท์ หรือส่ง SMS แนบลิงค์ใช้หลอกหลวงชาวบ้าน และเข้าไปดำเนินคดีกลุ่มมิจฉาชีพ เตรียมเสนอ บอร์ด กสทช.พิจารณาเร็วๆ นี้ เพื่อจัดสรรงบประมาณ กำลังคน และการพัฒนาเทคโนโลยีรองรับเหตุหลอกลวง ยืนยัน “กันกวน Plus” เป็นผู้พัฒนาแพลทฟอร์มรายเดียวกับ “แอปเป๋าตัง” จึงประสิทธิภาพต่อการใช้งานกับประชาชนทั้งประเทศ
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเสนอตั้ง อสด. อาสาสมัครดิจิทัลชุมชน ทำงานเหมือนกับ อสม. ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ความรู้ แนะนำ ความรู้เรื่องโซเชียล การเตือนภัย การหลอกลวงผ่านโซเชียลในชุนชน ต้องเดินหน้าให้ความรู้ “อย่าโลภ อย่ากลัว” เพราะกลุ่มมิจฉาชีพ จะใช้ความโลภ ความกลัวของประชาชน เข้าไปหลอกลวง ทั้งการโอนเงิน การกู้เงิน การซื้อสินค้า สร้างความเสียหายนับร้อยล้านบาทต่อวัน
อีกทั้ง ยังได้เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.ก. ป้องกันภัยไซเบอร์ เพื่อให้อำนาจค่ายมือ เข้าระงับเหตุ หรือปิดกันการใช้ซิมการ์ด อินเตอร์เน็ต เมื่อเจอเหตุสงสัย เหมือนกับให้อำนาจแบงก์ระงับโอนจากบัญชีเงินฝาก เนื่องจากขณะนี้ พบการโอนเงินผ่านระบบ Pre-paid ค่ายมือถือจำนวนมาก โดยที่บางรายเติมเงินเข้ามา 100-200 ล้านบาท นับว่ามีความเสี่ยงต่อพฤติกรรมการหลอกลวงประชาชนอย่างมาก.