กกต.โล่ง! ศาลปกครองสูงสุด ยกฟ้องปมแบ่งเขต ขณะ “อรรถวิชช์” ยังข้องใจ

ศาลปกครองสูงสุด ยกฟ้อง กกต. ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม.-สุโขทัย-สกลนคร ชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปตาม รธน. ไม่มากไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 “อรรถวิชช์” ยังข้องใจ ชี้คำพิพากษาศาลสร้างบรรทัดฐานใหม่ หลังจากนี้ กกต.จะสามารถแบ่งเขตได้ตามใจชอบ

วันที่ 7 เมษายน 2566 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้อง ในที่คดีที่ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม., คดีที่นายพัฒนา สัพโส ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จ.สกลนคร, คดีที่นายวิรัตน์ วิริยะพงษ์ ผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ใน จ.สุโขทัย และคดีที่นายพัฒ ตั้งเบญจผล ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์จาก จ.สุโขทัย ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีขอให้เพิกถอนประกาศ กกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร, จ.สกลนคร และ จ.สุโขทัย ลงวันที่ 16มี.ค.2566 ตามลำดับ

โดยให้เหตุผลว่า เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ต่อจำนวน ส.ส. 1 คน เป็นตัวตั้ง ทั้งในเขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จ.สกลนคร และ จ.สุโขทัย ตามประกาศ กกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ลงวันที่ 16 มี.ค.2566 จำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งในแต่พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จ.สกลนคร และ จ.สุโขทัย มีจำนวนไม่มากหรือมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง 162,766 คน ต่อจำนวน ส.ส. 1 คน จนเกินไป

การที่ กกต.ออกประกาศ กกต.เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ลงวันที่ 16 มี.ค.2566 ในส่วนของกรุงเทพมหานคร 33 เขตเลือกตั้ง, จ.สกลนคร 7 เขตเลือกตั้ง และ จ.สุโขทัย 4 เขตเลือกตั้ง จึงเป็นการประกาศที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (5) ที่กำหนดว่า จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน จึงพิพากษายกฟ้อง

ภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา​ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งออกแถลงการณ์ว่า ได้เตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 ไว้ทุกด้านแล้ว และน้อมรับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด พร้อมดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ลงวันที่ 16 มี.ค.2566 เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยยึดหลัก “สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย” เป็นสำคัญ

ด้านนายอรรถวิชช์ กล่าวว่า​ คำพิพากษาวันนี้ ได้ไปเปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นคนละระบบเลือกตั้ง ซึ่งเกณฑ์นี้ กกต.ตั้งใจมาตั้งแต่ต้น และเป็นการย้ำชัดอีกครั้งหนึ่งว่าคำพิพากษา กกต.สามารถกำหนดเกณฑ์ 10 เปอร์เซ็นต์นี้ได้ และในอนาคต กกต.เพียงไม่กี่ท่านสามารถกำหนดเขตอย่างไรก็ได้ตามที่ กกต.เห็นควร จะเห็นได้ว่ารูปแบบการแบ่งเขตมี 4 แบบ ซึ่งแบบที่กกต.เลือกแบบที่ 1 มีประชาชาชนเห็นด้วยกับรูปแบบนี้เพียงคนเดียว ขณะที่รูปแบบที่ 3 ที่ควรจะเป็นและคุ้นเคย มีประชาชนเห็นด้วยถึง 403 คน แต่สุดท้ายก็ออกตามที่ กกต.เลือก แต่ถึงอย่างไรเราพร้อมสู้ทุกรูปแบบ เพราะผู้สมัครของพรรคเราในเขต กทม.ก็ใหม่หมด

“วันนี้ที่ผมมาร้องจนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษา ผมไม่คิดว่าพรรคชาติพัฒนากล้าจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบอะไรในเรื่องนี้ แต่มันทำให้ระบบ ส.ส.ความเป็นผู้แทนเปลี่ยนแปลงไป” นายอรรถวิชช์ กล่าว

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password