กรมศุลฯนำแถลงจับ ‘ใบคัต’ ล็อตใหญ่ 5.6 ตัน เชื่อ! หวังใช้ไทยเป็นฐานส่งออกไปตปท.

ประเดิม 9 แรกของปี! กรมศุลกากรนำแถลงจับยาเสพติด “ใบคัตอบแห้ง” ทางเรือได้เป็นครั้งแรก น้ำหนักรวม 5.6 ตัน มูลค่าในไทย 60 ล้านบาท เผย! ตีตรา Product of Thailand เชื่อ! หวังใช้ไทยเป็นฐานส่งออกไปต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง ด้าน “อธิบดีฯพชร” เผย! แม้จะออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในระดับอ่อนถึงปานกลาง แต่หากใช้เป็นสารตั้งต้นแปรรูปเป็นยาเสพติดอื่น โทษจะรุนแรงมาก ขณะที่ ป.ป.ส. จ่อตามจิก “สาวไทย” คนนำเข้าและสำแดงเป็น ผงใบมะรุม เพื่อขยายผลทางลึกแล้ว

วันที่ 9 มกราคม 2566 ณ กรมศุลกากร คลองเตย นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร พร้อมด้วย พ.ต.ท.กิตติคุณ พ่วงนาคพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการข่าวและปราบปรามยาเสพติด 6 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พ.ต.ท.เอกรินทร์ สิกขากูล รอง ผกก.1 บก.ปส.2 นปส.พัทยา กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และ พ.อ.มารุต เปล่งขำ ผอ.กอง 12 ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ร่วมกันแถลงข่าวการตรวจยึดใบพืช “Khat” (ใบคัตอบแห้ง) นำเข้าจากต่างประเทศ น้ำหนัก 5,600 กิโลกรัม มูลค่าของกลาง 60 ล้านบาท

นายพชร เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง พบจุดผิดสังเกตในการนำเข้าสินค้าที่สำแดงใบขนสินค้าเป็นผงใบมะรุม (MORINGA LEAVES) มีถิ่นกำเนิดจาก KENYA ซึ่งเป็นประเทศที่ถูกจับตามองในเรื่องการนำเข้าสินค้าต้องห้าม ตาม “อนุสัญญาไซเตส” (ว่าด้วยการนำเข้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ได้รับการคุ้มครอง) โดยมีปริมาณมากถึง 420 ลัง (1 ลังมี 12 ห่อๆ ละ 2 ก.ก.) น้ำหนักรวม 5,600 ก.ก. ในฐานะพรรณไม้และส่วนของพรรณไม้ (รวมถึงเมล็ดและผล) อื่น ๆ ตัด บด หรือทำเป็นผง เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจสอบสินค้าพบลักษณะทางกายภาพเป็นใบพืชแห้งแยกบรรจุในถุงบรรจุภัณฑ์พลาสติกสีเงินและพลาสติกใส บรรจุในลังกระดาษสีน้ำตาล ที่ถุงบรรจุภัณฑ์ติดฉลาก ทั้งสองด้าน ฉลากด้านหน้า เขียนระบุ MORINGA DRY TEA LEAF และฉลากด้านหลังมุมขวาด้านล่าง มีการเขียนระบุชื่อผู้ผลิต และมีการแสดงข้อความตัวอักษรหนาในกรอบสี่เหลี่ยมว่า Product of Thailand ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าสินค้าผลิตในประเทศไทย

เมื่อตรวจสอบเอกสารใบรับรอง Phytosanitary Certificate ที่ผู้นำเข้านำมาแสดงขณะนำเข้าระบุชื่อพืชพฤกษศาสตร์เป็น “CATHA EDULIS” ซึ่งไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าสินค้าเป็นชนิดใด จึงชักตัวอย่างสินค้าส่งสถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามยาเสพติด รายงานผลตรวจพบสินค้าเป็น “ใบพืช Khat” ประกอบด้วยสารคาทิโนนและสารคาทีน จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 และประเภท 2 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 (มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท) ซึ่งปริมาณใบ “Khat” (ใบคัตอบแห้ง) ที่ทำการยึดในครั้งนี้ น้ำหนัก 5,600 กิโลกรัม มูลค่าของกลาง 60 ล้านบาท 

สำหรับใบคัต (Khat) หรือแกต เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบแอฟริกาและคาบสมุทรอาหรับ องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นพืชเสพติดที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในระดับอ่อนถึงปานกลาง การบริโภคใบคัตอาจทำให้เสพติด หรือส่งผลต่อสุขภาพแบบเฉียบพลัน คือ โรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน หรืออาจเสียชีวิตได้

จากนั้น เจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อกล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าว เป็นกรณีความผิดฐานพยายามนำเข้าซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ ตามมาตรา 149 (1) (2) แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 พ.ศ. 2565 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 พ.ศ. 2565 และกรณีเป็นความผิดฐานนำของหัตถกรรมใด ๆ ที่มีการแสดงกำเนิดเป็นเท็จเข้ามาในราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตามมาตรา 5 ประกอบ มาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ห้ามนำของที่มีการแสดงกำเนิดเป็นเท็จเข้ามา พุทธศักราช 2481 ทั้งนี้ เป็นความผิดฐานนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้าม อันเกี่ยวกับของนั้น ตามมาตรา 202 และมาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 มาตรา 166 และ 167 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และยึดของกลางเพื่อสืบสวนขยายผลต่อไป

“ปกติการนำเข้าใบคัต มักจะมีปริมาณไม่มากนัก และส่วนใหญ่ที่เจ้าหน้าที่จับกุมได้จะเป็นการส่งผ่านช่องทางพัสดุไปษณีย์ แต่ครั้งนี้ถือว่าเป็นการนำเข้าล็อตใหญ่มาก และเป็นครั้งแรกที่มีการนำเข้าผ่านช่องทางนี้ ซึ่งปลายทางจะจำหน่ายในประเทศ หรือส่งออกต่อไปยังประเทศอื่นๆ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งนั้น แต่สิ่งที่กรมศุลกากรรู้สึกเป็นห่วงมากที่สุด คือ การนำสารสกัดจากใบคัตไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดประเภทอื่นๆ ที่ให้ผลร้ายแรงมากกว่า ซึ่งการจับใบคัตอบแห้งครั้งนี้ ถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของกรมศุลกากรและหน่วยงานพันธมิตรข้างต้น” อธิบดีกรมศุลกากร ย้ำ

ด้าน ผู้แทนจาก ป.ป.ส. กล่าวเสริมว่า การที่บรรจุใบคัตลงในบรรจุภัณฑ์ที่พิมพ์ข้อความ “Product of Thailand” นั้น ป.ป.ส. เชื่อว่า มีความเป็นไปได้สูงที่น่าจะใช้ประเทศไทยเป็นฐานเพื่อการส่งออกต่อไปยังประเทศปลายทางอื่นๆ ส่วนหนึ่งเพราะใบคัตมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับใบกระท่อม ที่ขณะนี้ไม่ได้อยู่ในบัญชียาเสพติด อีกทั้งคนไทยก็ไม่คุ้นชินยาเสพติดประเทศนี้ ซึ่ง ป.ป.ส.จะทำการสืบสวนในทางลึกต่อไปว่าใครเป็นคนนำเข้า นำเข้ามาเพื่อวัตถุประสงค์ และหากจะส่งออกปลายทางคือที่ใด

“เบื้องต้นการสอบสวนทางลึกพบว่ามีผู้หญิงไทยรายหนึ่ง เป็นตัวการนำเข้าใบคัตมายังประเทศไทย ซึ่ง ป.ป.ส.จะเริ่มต้นจากจุดนี้ โดยจะทำการสอบสวนผู้หญิงไทยรายนั้น เพื่อขยายผลในการดำเนินคดีต่อไป” พ.ต.ท.กิตติคุณ ระบุ

สำหรับ สถิติการจับกุมยาเสพติด “Khat” (ใบคัตอบแห้ง) ตั้งแต่ 2556 – 2565 จำนวน 115 คดี จำนวน 6,744 กิโลกรัม มูลค่า 69,459,230 บาท และการจับกุมยาเสพติดทั่วประเทศ ปีงบประมาณ 2566 กรมศุลกากร ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 – 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 41 ราย มูลค่า 127,484,050 บาท.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password