ชื่นชม 24 จ. ยอดตายศูนย์! เผย! 4 วันสงกรานต์ อุบัติเหตุรวมพันครั้ง ตาย 138 บาดเจ็บทะลุพัน

ศปถ.ปลื้มปีนี้ ยอดอุบัติเหตุลดลง เผย! 24 จ. ยอดตายยังเป็นศูนย์ ส่วนยอดอุบัติเหตุ 4 วันห้วงเทศกาลสงกรานต์ พบสะสม 1,000 ครั้ง บาดเจ็บ 1,002 คน  เสียชีวิตรวม 138 ราย กรุงเทพฯ นำต่อยอดคนตายสะสมสูงสุด 13 ราย

วันนี้ (15 เม.ย. 2568) เวลา 10.30 น. ที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 มีการแถลง ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 โดยกำชับจังหวัดบังคับใช้กฎหมายและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำผิดกฎหมายจราจร การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาที่กฎหมายกำหนด และการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ดูแลความปลอดภัยประชาชนในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์และบริเวณที่มีการจัดงานรื่นเริง เตรียมพร้อมอำนวยความสะดวกประชาชนในการเดินทางกลับเข้ากรุงเทพมหานครและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ

ทั้งการจัดรถโดยสารสาธารณะให้เพียงพอต่อความต้องการ การตรวจสภาพรถและคนขับให้มีความพร้อมให้บริการประชาชน รวมถึงการตั้งจุดตรวจและจุดบริการประชาชนในเส้นทางสายหลักที่มีปริมาณรถหนาแน่น โดยบูรณาการหน่วยงานและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อให้การเดินทางในวันปีใหม่ไทยเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยและไร้อุบัติเหตุ

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะ ประธานการประชุม และประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 15 เม.ย. เปิดเผยว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และสถิติการได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ภาพรวมดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยปีนี้ จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องการลดตัวเลขเหล่านี้ให้เหลือน้อยที่สุด ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จึงต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อให้เป้าหมายที่วางไว้บรรลุผล

สำหรับวันนี้ ศปถ. ขอให้จังหวัดกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงโดยใช้ด่านชุมชนและด่านครอบครัวในการเฝ้าระวัง ตรวจตรา ป้องปราม และตักเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงไม่ให้เดินทางออกนอกพื้นที่ ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำผิดกฎหมายจราจรอย่างการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและการฝ่าฝืนสัญญาณจราจร รวมถึงการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการจำหน่ายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนดและการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ในกรณีที่ตรวจพบเด็กและเยาวชนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และขับขี่ยานพาหนะ ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบูรณาการร่วมกับฝ่ายปกครองให้มารับตัวเด็กและเยาวชน รวมถึงยานพาหนะกลับไป เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุขึ้น ทั้งนี้ ขอให้จังหวัดให้ความสำคัญกับการกวดขันและดำเนินคดีตามกฎหมายกับกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดอุบัติเหตุสูงที่สุด

ขอให้จังหวัดกำกับดูแลการเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมีความปลอดภัย และขอให้เตรียมความพร้อมดูแลประชาชนในการเดินทางกลับเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครและเขตเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าประชาชนจะเริ่มทยอยเดินทางตั้งแต่วันนี้ และให้ประสานการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดรถโดยสารสาธารณะให้มีความเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน กำชับผู้ประกอบการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ ทั้งประเภทประจำทางและไม่ประจำทาง ให้ดำเนินการตรวจสอบสภาพรถโดยสารและอุปกรณ์นิรภัยให้มีความพร้อมใช้งานก่อนออกให้บริการทุกครั้ง พร้อมทั้งตรวจสุขภาพร่างกายของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ ให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยาที่มีฤทธิ์กดประสาท ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม อันเป็นสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุจากการหลับใน นอกจากนี้ ขอให้พิจารณาการจัดตั้งจุดตรวจ จุดบริการ หรือจุดอำนวยความสะดวกบนเส้นทางสายหลักที่คาดว่าจะมีปริมาณการจราจรหนาแน่น เพื่อรองรับการหยุดพักของผู้เดินทางและสร้างความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์” นายสุรศักดิ์  กล่าว

ด้าน นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะ อนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี พ.ศ. 2568 กล่าวว่า วันที่ 15 เม.ย. เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย และเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนบางส่วนอาจจะยังอยู่เล่นน้ำสงกรานต์ เฉลิมฉลองวันปีใหม่ไทย และบางส่วนอาจเริ่มทยอยเดินทางกลับมายังกรุงเทพมหานครและพื้นที่เศรษฐกิจอื่น ๆ ขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ผ่านทุกช่องทาง ทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้ผู้ขับขี่เตรียมความพร้อมของยานพาหนะให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน วางแผนการเดินทางโดยเลือกใช้เส้นทางที่เหมาะสม และตรวจสอบข้อมูลสภาพการจราจร รวมถึงเส้นทางเลี่ยงและทางลัดล่วงหน้า

พร้อมทั้งเน้นย้ำ ให้ผู้ขับขี่พักผ่อนให้เพียงพอก่อนออกเดินทาง และควรหยุดพักการขับขี่ทุก 4 ชั่วโมง เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 นาที ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด มีน้ำใจกับผู้ร่วมใช้เส้นทาง และจากข้อมูลการพยากรณ์อากาศในช่วง 24 ชั่วโมงข้างหน้า บางพื้นที่ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะยังคงมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจเกิดฟ้าผ่าในบางพื้นที่ จึงขอให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนให้ขับขี่อย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง หรืออยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง

สำหรับ ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 14 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 14 เม.ย. เกิดอุบัติเหตุ 241 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 249 คน ผู้เสียชีวิต 34 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 44.40 ดื่มแล้วขับ 24.90 และ ทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 14.52

ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 77.20 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 85.89 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 41.91ถนนในอบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 29.05 ถนนในเมือง (เทศบาล) ร้อยละ 13.69 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 15.01 -18.00 น. ร้อยละ 22.41 เวลา 18.01 – 21.00 น. ร้อยละ 19.50 และเวลา 12.01 – 15.00 น. ร้อยละ 16.60 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 20.14 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,760 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,047 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (13 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สระแก้ว (6 ราย)

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 4 วันของการรณรงค์ (11 – 14 เม.ย.) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,000 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,002 คน ผู้เสียชีวิต รวม 138 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 24 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พัทลุง (36 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (40 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (13 ราย).

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password