ค่ายกรุงไทยแนะโอกาสธุรกิจผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในกัมพูชา ชี้! ผู้สนใจเตรียมขอใบอนุญาต เชื่อคืนทุนปีที่ 7

นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS ชี้! โอกาสของผู้ประกอบการไทยในธุรกิจ Solar Rooftop System หลังรัฐบาลกัมพูชามุ่งการส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ คาดใช้เวลาคืนทุนราว 7.4-8.5 ปี ส่วนอัตราผลตอบแทน (IRR) สูงถึง 12%-15% หากทำสัญญาขายไฟให้กับโรงงานอุตสาหกรรมหรืออาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ระบุ! 4 เมืองเหมาะสมในการลงทุน  แนะนำเตรียมความพร้อมขอใบอนุญาตประกอบกิจการนกัมพูชา พร้อมติดตาม “3 ปัจจัย” เกี่ยวข้องก่อนเข้าทำธุรกิจ Solar-Corporate  

นายกฤตตฤณ เหล่าฤทธิ์ นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS เขียนบทความที่กล่าวถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทยในธุรกิจ Solar Rooftop System โดยเฉพาะ ธุรกิจ Solar-Corporate PPA ซึ่งเป็นการลงทุนผลิตและขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในอัตราที่ถูกกว่าค่าไฟที่ผู้ใช้ซื้อจากภาครัฐ หลังจาก รัฐบาลกัมพูชามีการส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในกัมพูชา ตามแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ ปี 2565-2583 (Power Development Master Plan: PDP ปี 2565-2583) ซึ่งเขาระบุว่า การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะมีบทบาทมากที่สุดจากทุกพลังงานหมุนเวียน ผ่านการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์กับการไฟฟ้าแห่งกัมพูชา ซึ่งได้วางแผนโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ตามจังหวัดต่าง ๆ ไว้ต่อเนื่องจากปี 2565 จนถึงปี 2583

นอกจากนี้ ภาครัฐกัมพูชายังเล็งเห็นในการผลักดันการใช้ Solar Rooftop สำหรับภาคเอกชนและภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมถึงภาคประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน รวมถึงภาคเอกชนผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกให้เป็นไปตามมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมใหม่ของหลายประเทศผู้นำเข้าสินค้า

บทความฉบับนี้เป็นบทความต่อเนื่องจากเรื่อง “โอกาสของผู้ประกอบการไทยจากการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวของกัมพูชา: การพัฒนาโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ (Episode 1)” โดยจะฉายภาพให้ผู้อ่านเข้าใจการสนับสนุน Solar Rooftop ของภาครัฐกัมพูชา ทั้งการ ติดตั้ง ณ โรงงานอุตสาหกรรม อาคารพาณิชยกรรมของภาคเอกชน และบ้านเรือนของภาคประชาชาชน โดยเป็นการติดตั้งในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งจะเป็นโอกาสทางธุรกิจ ให้แก่ผู้ประกอบการไทยในธุรกิจบริการรับจ้างติดตั้งและก่อสร้าง Solar Rooftop System พร้อมทั้งเสนอแนวทางในการลงทุนที่เหมาะสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้าไปลงทุนในกัมพูชา

Solar Rooftop มีทิศทางเป็นอย่างไรในกัมพูชา :

ความพยายามในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ของภาครัฐกัมพูชา เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของภาคพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศและช่วยให้กัมพูชาเดินตามเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 นำมาสู่การส่งสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในทุกภาคส่วน

โดย ภาครัฐกัมพูชาได้เร่งผลักดันการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านการติดตั้ง Solar Rooftop System ทั้งในภาคเอกชนและภาคประชาชน ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับความยั่งยืนด้านพลังงานไฟฟ้าแล้วนั้น ยังเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนในกัมพูชาได้ ผ่านการออกนโยบาย “Principles for Permitting the Use of Rooftop Solar Power in Cambodia” ในปี 2566 ซึ่งมีรายละเอียดครอบคลุมถึงระเบียบและวิธีการขออนุญาตติดตั้ง Solar Rooftop System ในกัมพูชา

การติดตั้ง Solar Rooftop System ในกัมพูชาสามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบหลัก ได้แก่…

ประเภทที่ 1 การติดตั้ง Solar Rooftop System ที่ไม่เชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติกัมพูชา (Off-grid National Network) ซึ่งจะเป็นการผลิตไฟใช้ภายในพื้นที่เท่านั้น จึงไม่สามารถขายไฟคืนให้แก่ภาครัฐได้ โดยผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถลงทุนเป็นเจ้าของ Solar Rooftop System ได้ใน 2 แบบ ได้แก่…

1.1 ผู้ใช้ไฟฟ้าลงทุนและเป็นเจ้าของด้วยตนเอง (Direct Own) โดยการว่าจ้างบริษัทผู้ให้บริการปรึกษาและติดตั้งฯ ในพื้นที่ของตนทั้งการติดตั้ง Solar Rooftop System ณ บ้านเรือน (Household) และ การติดตั้งฯ ณ โรงงานอุตสาหกรรมและอาคารพาณิชยกรรม (Industrial/Commercial) โดยผู้ใช้ไฟฟ้าจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด

1.2 ผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นเจ้าของทางอ้อม (Indirect Own) โดยผู้ให้บริการ Solar-Corporate Power Purchasing Agreement: Solar-Corporate PPA) จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายลงทุนติดตั้ง และค่าดูแลรักษาในพื้นที่ของผู้ใช้ไฟฟ้า (เจ้าของพื้นที่) ซึ่งอาจเป็นบ้านเรือน อาคารพาณิชย์ โรงงานอุตสาหกรรม โดยผู้ให้บริการ Solar-Corporate PPA จะทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้าตามระยะเวลาที่ตกลงกัน โดยผู้ใช้ไฟฟ้า(เจ้าของพื้นที่) จะได้รับประโยชน์จากการไม่ต้องลงทุนก่อน ซึ่งเหมาะกับผู้ใช้ไฟที่ไม่ต้องการใช้เงินลงทุนสูงในครั้งเดียว รวมถึงประโยชน์จากการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมจากไฟฟ้าพลังงานสีเขียวที่ช่วยลดค่าธรรมเนียมคาร์บอน หรือใช้เป็นคาร์บอนเครดิตได้ในอนาคต

ในด้านอัตราค่าไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟที่ทำสัญญา Solar-Corporate PPA มีแนวโน้มที่จะใช้ไฟฟ้าในอัตราที่ต่ำกว่าการซื้อไฟฟ้าจากภาครัฐ ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์ (Industrial/Commercial) ของกัมพูชาเผชิญกับค่าไฟที่สูงกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายประเทศ

โดยจากรายงานของ Bloomberg NEF พบว่า ค่าไฟอุตสาหกรรมในกัมพูชาปี 2565 อยู่ที่ 0.158 เหรียญสหรัฐฯ/วัตต์ ซึ่งสูงกว่าเวียดนาม ถึง 2 เท่า โดยอยู่ที่ 0.07 เหรียญสหรัฐฯ/วัตต์ ส่วนค่าไฟเชิงพาณิชย์ในกัมพูชาปี 2565 อยู่ที่ 0.137 เหรียญสหรัฐฯ/วัตต์ ซึ่งสูงกว่าทั้งไทย เวียดนาม มาเลเซีย และลาว ซึ่งอยู่ที่ 0.120 0.117 0.099 และ 0.068 ตามลำดับ

ขณะที่ ค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ของการทำสัญญา Solar-Corporate PPA สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบหลัก ได้แก่ 1) ผู้ใช้ไฟซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ค่าไฟฟ้าที่ทำสัญญาจะอยู่ที่ราว 0.094 เหรียญสหรัฐฯ/วัตต์ (อัตราค่าไฟรูปแบบที่ 1) และ 2) ผู้ใช้ไฟเป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์ ค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 0.082 เหรียญสหรัฐฯ/วัตต์ (อัตราค่าไฟรูปแบบที่ 2) โดยทั้ง 2 รูปแบบ ค่าไฟฟ้าจะต่ำกว่าทั้งอัตราค่าไฟอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ราว 40 (1)จึงเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับมาใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ผ่านการทำสัญญา Solar-Corporate PPA มากขึ้น

ประเภทที่ 2 การติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ที่จะเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติกัมพูชา (On-grid National Network) ซึ่งสามารถขายไฟคืนให้แก่ภาครัฐได้ โดยผู้ใช้ไฟจะต้องลงทุนเพื่อเป็นเจ้าของ Solar Rooftop System ด้วยตนเอง(Direct Own) เท่านั้น จึงจะสามารถขายไฟฟ้าส่วนเกินคืนให้แก่ภาครัฐได้

ทั้งนี้ ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเป็นได้ทั้งภาคประชาชน และผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ โรงงานอุตสาหกรรม (Commercial/Industrial)

อย่างไรก็ตาม การติดตั้งฯ ประเภทที่ 2 มีข้อจำกัดหลายประการ เช่น 1) ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกคิด(ชาร์จ) ค่าธรรมเนียมอัตราค่าชดเชยพลังงานไฟฟ้าผันแปรจากการติดตั้งฯ ตามกำลังผลิตต่อเดือนของ Solar Rooftop System 2) ข้อห้ามในการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) และ 3) ความไม่ชัดเจนในเกณฑ์และกฎระเบียบการคำนวณผลประโยชน์จากการขายไฟคืนให้แก่รัฐที่เป็นแรงจูงใจหลักของการติดตั้งฯ ทั้งผู้ใช้ไฟซึ่งเป็นบ้านเรือนของประชาชนและผู้ใช้ไฟซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารพาณิชย์

Krungthai COMPASS ประเมินว่าการติดตั้งฯ ที่ไม่เชื่อมกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ Off-grid (ประเภทที่ 1)จะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ให้บริการ Solar-Corporate PPA จากแรงจูงใจในการทำสัญญา Solar-Corporate PPA ของผู้ใช้ไฟฟ้า 3 ประการ ได้แก่ 1) การที่ผู้ใช้ไฟไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการลงทุนที่สูงครั้งเดียว 2) การแสดงถึงการให้ความสำคัญต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศในระยะยาวของผู้ใช้ไฟซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรม อาทิ ผู้ผลิตสินค้าส่งออก และประโยชน์จากการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียวที่ช่วยลดค่าธรรมเนียมคาร์บอนหรือใช้เป็นคาร์บอนเครดิตได้ในอนาคต 3) อัตราค่าไฟฟ้าของการทำสัญญา Solar-Corporate PPA ซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าไฟทั่วไปราว 40%(2)

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ ที่จะสามารถการขายอุปกรณ์ วัสดุก่อสร้างและติดตั้ง Solar Rooftop System ได้อีกด้วย

ผลตอบแทนของการลงทุน Solar-Corporate PPA :

Krungthai COMPASS ประเมินว่าหากผู้ประกอบการ Solar-Corporate PPA ไทยเข้าไปลงทุนและทำสัญญาขายไฟกับโรงงานอุตสาหกรรม (อัตราค่าไฟรูปแบบที่ 1)จะมีระยะเวลาคืนทุนราว 7.4 ปี และหากทำสัญญาขายไฟกับอาคารพาณิชย์ (อัตราค่าไฟรูปแบบที่ 2) จะมีระยะเวลาคืนทุนราว 8.5 ปี(3)  โดยผลตอบแทนของผู้ประกอบการ Solar-Corporate PPA ในกัมพูชาทั้งการทำสัญญากับโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารพาณิชย์ ประเมินจากตัวอย่างโรงงานอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษพนมเปญ บนพื้นฐานมูลค่าการลงทุน พื้นที่ติดตั้งและขนาดกำลังการผลิต Solar Rooftop System เดียวกัน

การทำสัญญา Solar-Corporate PPA กับผู้ใช้ไฟซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมมีแนวโน้มจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากรณีผู้ใช้ไฟซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ โดยหากผู้ประกอบการไทยในธุรกิจ Solar-Corporate PPA สามารถทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโรงงานอุตสาหกรรมที่ติดตั้ง Solar Rooftop System ขนาดกำลังการผลิตราว 1 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้พื้นที่บนหลังคา/สถานที่ของผู้ใช้ไฟฟ้า ราว 7,000 ตารางเมตร หรือราว 4.4 ไร่ จะสร้างรายได้จากการขายไฟฟ้า 3.43 ล้านบาท/ปี จากการขายไฟฟ้าที่ราคา 0.094 เหรียญสหรัฐฯ/กิโลวัตต์ชั่วโมง(4) ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้ารูปแบบที่ 1 จะมีระยะเวลาคืนทุนราว 7.4 ปี เมื่อเทียบกับอายุสัญญาขายไฟฟ้าที่ 20 ปี สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี (IRR) อยู่ที่ 14.94%

หากเป็นการการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์จะมีรายได้จากการขายไฟลดลง เป็นราว 3.01 ล้านบาท/ปี จากอัตราเสนอขายไฟฟ้าได้ต่ำกว่าโดยอยู่ที่ 0.082 เหรียญสหรัฐฯ/กิโลวัตต์ชั่วโมง  ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้ารูปแบบที่ 2 โดยอ้างอิงอัตราค่าไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เฉลี่ยในกัมพูชา ปี 2565 ซึ่งจะมีระยะเวลาคืนที่เพิ่มขึ้นเป็น 8.5 ปี เมื่อเทียบกับอายุสัญญาขายไฟฟ้าที่ 20 ปี สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี (IRR) อยู่ที่ 12.17%

สำหรับนักลงทุนSolar-Corporate PPA กลุ่มลูกค้าในกัมพูชา มีลักษณะเป็นอย่างไร :

Krungthai COMPASS มองว่าผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมหรืออาคารพาณิชยกรรม ในจังหวัดที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ Solar-Corporate PPA ของไทย โดยพนมเปญ พระสีหนุวิลล์ เกาะกง และบันเตียเมียนเจย เป็นจังหวัดที่รวมกลุ่มผู้ใช้ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมจะกระจุกตัวอยู่มากที่สุดในกัมพูชา เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones: SEZs) โดยภาครัฐ ได้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจฯ เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment: FDI) ผ่านการอำนวยความสะดวกในโครงสร้างพื้นฐานและให้สิทธิประโยชน์ต่อการลงทุน ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าเหล่านี้เป็นกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่ยังพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินภายในประเทศ หรือพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากประเทศไทยเป็นหลัก(5)  

สำหรับเขตเศรษฐกิจฯ ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและมีผู้ประกอบการเช่าพื้นที่และเริ่มดำเนินการผลิตแล้วในกัมพูชากว่า 30 แห่ง(6) พบว่า โดยส่วนใหญ่เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) จะเข้าไปใน 4 พื้นที่(7) ได้แก่…

1. พนมเปญ ในเขตเศรษฐกิจฯ พนมเปญ (Phnom Penh SEZ) 2. สีหนุวิลล์ ในเขตเศรษฐกิจฯ สีหนุวิลล์ (Sihanoukville SEZ) และเขตเศรษฐกิจฯ ท่าเรือสีหนุวิลล์ (Sihanoukville Port SEZ: SPSEZ) 3. เกาะกง ในเขตเศรษฐกิจฯ เนียงกก (Neang Kok SEZ) 4. บันเตียเมียนเจย ในเขตเศรษฐกิจฯ ปอยเปตโอเนียง (Poipet O’Neang SEZ) และ เขตเศรษฐกิจฯ ซานโก ปอยเปต (Sanco Poipet SEZ)

พนมเปญ ถือเป็นจังหวัดที่โดดเด่นมากที่สุด จากทั้งหมด 4 จังหวัด เนื่องจากเป็นเมืองหลวงและเมืองเศรษฐกิจหลักของกัมพูชา มีเขตเศรษฐกิจฯ พนมเปญแบ่งพื้นที่ ๆ ถูกจัดสรรเพื่อปล่อยเช่าแก่โรงงานอุตสาหกรรมมีตั้งแต่ราว 4,400 ตารางเมตร (2.7 ไร่) ไปจนถึง 99,500 ตารางเมตร (62 ไร่) ซึ่งพื้นที่โดยเฉลี่ยของเขตเศรษฐกิจฯ พนมเปญ 3 เฟส

โดยจากรายงานประจำปี 2565 ของ ROYAL GROUP PHNOM PENH SEZ พบว่า มีนักลงทุนหลายประเทศเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจฯ พนมเปญ อาทิ นักลงทุนจีน ญี่ปุ่น อเมริกา เวียดนาม และสิงคโปร์ โดยลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 100 แห่ง จาก 20 ประเภทอุตสาหกรรม โดยโรงงานผลิตเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า (Garment Footwear and Travel Goods: GFT) นับว่ามีโรงงานมากที่สุดในเขตเศรษกิจฯ พนมเปญและในกัมพูชา(8) นอกจากนี้ ยังมีโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ ผลิตปูนซีเมนต์และปิโตรเคมี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้ไฟรายใหญ่ด้วยเช่นกัน

นอกจาก 4 จังหวัดดังกล่าว เสียมเรียบ ถือเป็นจังหวัดที่โดดเด่นอีกหนึ่งแห่ง เนื่องจากมีกลุ่มผู้ใช้ไฟรายใหญ่ที่เป็นอาคารพาณิชย์จำนวนมาก โดยเสียมเรียบถือเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับ 2 รองจากพนมเปญ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและไลฟ์ไสตล์ มีตัวอย่างอาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้ใช้รายใหญ่ อาทิ โรงแรม Angkor Lake of Wonder (Naga World Siem Reap) โรงแรมระดับลักชูรี รวมถึงมีห้างสรรพสินค้า สวนสนุกไฮเทคในร่ม บนพื้นที่กว่า 75,000 ตารางเมตร

การลงทุน Solar-Corporate PPA ในกัมพูชามีกระบวนการอย่างไร? :

การติดตั้ง Solar Rooftop  System ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคเอกชน ทุกโครงการในกัมพูชาจะต้องผ่านการอนุมัติโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งกัมพูชา (Electricity Authority of Cambodia: EAC) ซึ่งสำหรับการขออนุญาตติดตั้งฯ ของธุรกิจ Solar-Corporate PPA เพื่อผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ของผู้ใช้ไฟนั้น ผู้ใช้ไฟและผู้ประกอบการ Solar-Corporate PPA ต้องร่วมกันศึกษาพื้นที่และประเมินโครงการก่อนส่งใบสมัคร

โดยผู้ประกอบการ Solar-Corporate PPA ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจพลังงานไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งกัมพูชา (EAC) ซึ่งใบอนุญาตจะครอบคลุมทั้งการให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหาอุปกรณ์ ติดตั้ง ทดสอบการดำเนินงาน บำรุงรักษาและการรื้อถอนระบบเซลล์แสงอาทิตย์ รวมถึงธุรกิจ Solar-Corporate PPA ในกัมพูชา ซึ่งจะเป็นการลงทุนติดตั้ง Solar Rooftop System ในพื้นที่ของผู้ใช้ไฟ (เจ้าของพื้นที่) และทำสัญญา ซื้อขายไฟ (PPA) ระหว่างกัน

ความท้าทายในการเข้าสู่ธุรกิจ Solar-Corporate PPA ในกัมพูชา :

นอกจากการเตรียมตัวด้านกฎเกณฑ์แล้วนั้น ยังมีความท้าทายที่ควรติดตาม ก่อนการเข้าทำธุรกิจ Solar-Corporate ในกัมพูชา(8) มีดังนี้

1) ความไม่แน่นอนของเกณฑ์และระเบียบที่เกี่ยวกับ Solar Rooftop System เนื่องจากยังมีกฎเกณฑ์และระเบียบการติดตั้ง Solar Rooftop System อีกหลายด้านมากที่ต้องการความชัดเจนในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลต่อความต้องการติดตั้งฯ และการทำสัญญา Solar-Corporate PPA

2) หากในอนาคตอุปทานพลังงานไฟฟ้าของกัมพูชาเพิ่มขึ้น จะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งกัมพูชา (EAC)  มีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้จากการขายไฟของธุรกิจ Solar-Corporate PPA โดยอัตราค่าไฟของโครงการ Solar-Corporate PPA อิงกับอัตราค่าไฟที่กำหนดโดย EAC ซึ่งคาดว่าอัตราค่าไฟที่ต่ำกว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่กำหนดโดย EAC ราว 40%

3) สถานะทางการเงินของผู้ใช้ไฟซึ่งเป็นเอกชน ซึ่งอาจกระทบต่อรายได้ธุรกิจ Solar-Corporate PPA หากผู้ใช้ไฟซึ่งเป็นลูกค้าผู้ทำสัญญาประสบปัญหาทางด้านการเงินจนไม่สามารถชำระค่าไฟฟ้าที่ตามที่ตกลงกัน อาจจะเกิดการสูญเสียรายได้จากการขายไฟในระยะเวลาที่เหลือของสัญญา Solar- Corporate PPA

Summary & Recommendation :

ผู้ประกอบการ Solar-Corporate PPA ของไทย ที่มีความพร้อมและสนใจลงทุนในกัมพูชาควรเตรียมพร้อมด้วยการขอใบอนุญาตประกอบการกิจการที่จะสามารถทำธุรกิจให้ปรึกษา/ติดตั้ง Solar Rooftop System รวมถึงธุรกิจ Solar-Corporate PPA ในกัมพูชา ซึ่งจะเป็นการลงทุนติดตั้ง Solar Rooftop System ในพื้นที่ของผู้ใช้ไฟ (เจ้าของพื้นที่) และทำสัญญา ซื้อขายไฟ (PPA) ระหว่างกัน โดยกลุ่มลูกค้าผู้ใช้ไฟฟ้า  ที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษและอาคารพาณิชยกรรม ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ในพื้นที่หัวเมืองหลักและเมืองท่องเที่ยวสำคัญของกัมพูชา เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ ที่มีในด้านชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังรวมถึง การพิจารณานำเอาระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) มาใช้กับธุรกิจ Solar-Corporate PPA ในกัมพูชา เนื่องจากจะช่วยกักเก็บไฟฟ้าที่ผลิตได้ในช่วงพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อใช้ในภายหลังได้ แม้จะเพิ่มต้นทุนในการติดตั้ง แต่จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจในการติดตั้ง Solar Rooftop System มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ควรติดตามก่อนเข้าไปทำธุรกิจ Solar-Corporate PPA ในกัมพูชา ได้แก่ 1) กฎเกณฑ์และระเบียบที่เกี่ยวกับ Solar Rooftop System 2) การเปลี่ยนแปลงอัตราค่าไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งกัมพูชา (EAC) ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้จากการขายไฟของธุรกิจ Solar-Corporate PPA และ 3) สถานะทางการเงินของลูกค้าผู้ใช้ไฟเอกชน.

การอ้างอิง :

(1)Thai Solar Energy

(2)Thai Solar Energy

(3)อัตราค่าไฟรูปแบบที่ 1 อ้างอิงอัตราค่าไฟอุตสาหกรรมเฉลี่ยในกัมพูชา ปี 2565 และ อัตราค่าไฟรูปแบบที่ 2 อ้างอิงอัตราค่าไฟเชิงพาณิชยเฉลี่ยในกัมพูชา ปี 2565 (ที่มา: BloombergNEF)

(4)อัตราค่าไฟรูปแบบที่ 1 (อัตราค่าไฟฟ้าอุตสาหกรรมเฉลี่ยของกัมพูชา) เท่ากับ 3.4 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง และอัตราค่าไฟรูปแบบที่ 2 (อัตราค่าไฟฟ้าพาณิชย์เฉลี่ยของกัมพูชา) เท่ากับ 3.0 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน 36.61 บาทต่อดอลลาร์ (24 มิถุนายน 2567) (ที่มา: BloombergNEF)

(5)EuroCham Cambodia

(6)EuroCham Cambodia และรวบรวมโดย Krungthai COMPASS

(7)กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และรวบรวมโดย Krungthai COMPASS

(8)Textile Apparel Footwear and Travel Goods Association in Cambodia: TAFTAC (9)GIZ, Khmer Times, Thai Solar Energy และรวบรวมโดย Krungthai COMPASS

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password