‘บีโอไอ’ แจงส่งเสริม EV ดันไทยฐานผลิตยานยนต์โลก

บีโอไอ ชี้แจงเหตุผล ส่งเสริมอุตสาหกรรม EV เพื่อรักษาการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก ชี้เงื่อนไขสำคัญ ต้องเข้ามาลงทุนผลิตชดเชยการนำเข้า 1 – 3 เท่า และใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตในประเทศ ย้ำ 5 มาตรการสำคัญ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตามที่มีการตั้งคำถามต่อมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ว่าส่งผลกระทบต่อการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ของประเทศไทย บีโอไอในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้

1.เหตุผลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และภาคขนส่งก็เป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุด ทิศทางโลกจึงมุ่งสู่การใช้ยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสะอาด ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ต่ำ หลายประเทศเตรียมออกมาตรการห้ามนำเข้ารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) หรือขึ้นภาษีเพื่อควบคุมการนำเข้ารถยนต์ที่ปล่อย CO2 สูง ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังคงผลิตรถยนต์ ICE เป็นหลัก

นอกจากนี้ ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีในปัจจุบัน การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากบางประเทศมาจำหน่ายในไทย ไม่ต้องเสียอากรขาเข้าอยู่แล้ว หากไม่มีมาตรการใด ๆ ก็มีแนวโน้มจะเกิดการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามาจำหน่ายในประเทศเป็นจำนวนมาก โดยที่ไม่เกิดการตั้งฐานการผลิต และประเทศไทยก็จะไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ อีกทั้งอาจสูญเสียโอกาสในการดึงการลงทุนอุตสาหกรรม EV ให้แก่ประเทศคู่แข่ง และสูญเสียโอกาสที่จะเติบโตจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ ระบบเชื่อมต่อยานยนต์ ฯลฯ ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันระยะยาว และประเทศไทยก็จะขาดฐานการผลิต EV ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในอนาคต

ดังนั้น เพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยแข่งขันได้และสอดคล้องกับทิศทางโลก อีกทั้งสามารถรักษาการเป็นฐานการผลิตยานยนต์อันดับหนึ่งในอาเซียน และอันดับต้น ๆ ของโลกได้ในระยะยาว รัฐบาลมองเห็นความจำเป็นที่ต้องส่งเสริมให้เกิดฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เพื่อศึกษาและกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรม EV โดยได้กำหนดเป้าหมาย 30@30 ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle) ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 เพื่อเป็นหมุดหมายให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเริ่มเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลจึงได้กำหนดมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรม EV เพื่อต่อยอดจุดแข็งอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีอยู่ ไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนที่ครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น ICE, HEV, PHEV และ BEV เพื่อรักษาและต่อยอดการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ทุกประเภทในระยะยาว รวมถึงโอกาสในการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก EV ไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าจากบางประเทศ โดยมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรม EV ของไทย เปิดกว้างสำหรับผู้ลงทุนทั้งรายเดิมและรายใหม่ ทั้งไทยและต่างชาติทุกประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ผลิต EV ทั้งประเภทรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถบรรทุก และรถบัส จากหลายประเทศเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตจากไทย จีน ญี่ปุ่น ยุโรป และล่าสุดคือ เกาหลีใต้

2.เหตุผลในการให้เงินอุดหนุนแก่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรการ EV3 และ EV3.5 โดยกรมสรรพสามิต มาตรการนี้มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่ EV ตามเป้าหมาย 30@30 และมุ่งผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักของภูมิภาค โดยการสร้างตลาดรถยนต์ EV ในประเทศให้มีขนาดเหมาะสมกับการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ผลิตรถยนต์ใช้ในการตัดสินใจเลือกแหล่งลงทุน

มาตรการ EV3 และ EV3.5 จะอนุญาตให้มีการนำเข้าในช่วง 2 ปีแรก และกำหนดเงื่อนไขผูกโยงกับการลงทุนตั้งฐานการผลิต โดยผู้ที่เข้าร่วมมาตรการจะต้องผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไทย เพื่อชดเชยการนำเข้าในสัดส่วนอย่างน้อย 1 – 3 เท่า แล้วแต่ระยะเวลา อีกทั้งยังกำหนดเงื่อนไขให้มีการใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตในประเทศ ซึ่งจะส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนแบบครบวงจรด้วย

3.เหตุผลที่ยอดขายรถยนต์ลดลงมากในปีนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ยอดขายรถยนต์ในประเทศลดลงร้อยละ 24 โดยในส่วนของรถกระบะ ลดลงถึงกว่าร้อยละ 40 ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้า BEV ที่เข้ามาจำหน่ายในไทยมีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 10 ของยอดขายรถทั้งหมด จะเห็นว่าสาเหตุหลักไม่ได้เกิดจากการเข้ามาแทนที่ของรถยนต์ไฟฟ้า แต่ปัจจัยหลักที่ส่งผลทำให้ยอดขายรถยนต์ในไทยลดลงมาก และส่งผลกระทบถึงกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ คือ ปัญหาภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน การชะลอตัวของการบริโภค หนี้ครัวเรือนที่สูง และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อซื้อรถยนต์ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการ และออกมาตรการหลายด้านเพื่อช่วยกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในระยะเปลี่ยนผ่าน

4.การสนับสนุนและดูแลผู้ผลิตรถยนต์สันดาปภายในและชิ้นส่วน เป้าหมายสำคัญของรัฐบาล คือ การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกรถยนต์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น ICE, HEV, PHEV และ BEV รวมทั้งชิ้นส่วนยานยนต์แบบครบวงจร สะท้อนจากเป้าหมาย 30@30 ซึ่งจะเห็นได้ว่าร้อยละ 70 ที่เหลือยังคงเป็นการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน แต่จะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่มุ่งสู่ความสะอาด ประหยัดพลังงาน ปลอดภัย และการขับเคลื่อนอัจฉริยะ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของผู้ผลิตรถยนต์สันดาปภายในที่มีต่อเศรษฐกิจไทย และพร้อมสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตยานยนต์สมัยใหม่ โดยได้ออก 5 มาตรการ เพื่อช่วยผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน ดังนี้

1) มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ (ประกาศ BOI ที่ 2/2566 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2566) เพื่อสนับสนุนให้ผู้ผลิตรถยนต์มีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อนำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ มาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสำหรับการผลิตรถยนต์ ทั้งแบบ ICE, HEV และ PHEV โดยขณะนี้มีค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกายื่นขอรับการส่งเสริมแล้ว 4 โครงการ

2) มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ (ประกาศ BOI ที่ 11/2567 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2567) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศมีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ฝึกอบรมบุคลากร หรือนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ หรือยกระดับมาตรฐาน เพื่อให้แข่งขันได้ หรือขยายธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น ชิ้นส่วน EV อิเล็กทรอนิกส์ อากาศยาน เครื่องมือแพทย์ เครื่องจักรและอุปกรณ์

3) มาตรการส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและต่างชาติในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ (ผ่านบอร์ด BOI เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567) เพื่อสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย มีโอกาสร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุน โดยนิติบุคคลไทยต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถยกระดับเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและตอบโจทย์ยานยนต์สมัยใหม่ได้

4) มาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์แบบไฮบริด (HEV) (ผ่านบอร์ด EV เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ ICE ไปสู่รถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และ HEV เป็นอีกหนึ่ง segment ที่ไทยมีโอกาสเป็นฐานการผลิตระดับโลกได้ โดยมาตรการนี้มีเงื่อนไขสำคัญ 4 ด้าน คือ การลดการปล่อยคาร์บอน การลงทุนเพิ่มเติม การใช้ชิ้นส่วนสำคัญในประเทศ และการติดตั้งระบบความปลอดภัยของรถยนต์

5) มาตรการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ กรมสรรพสามิตได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผลิตรถยนต์ที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 และ EV3.5 ต้องมีการใช้แบตเตอรี่หรือชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตในประเทศ
เช่น มอเตอร์ขับเคลื่อน ระบบ BMS DCU อินเวอร์เตอร์ เกียร์ทดรอบ หรือคอมเพรสเซอร์ระบบปรับอากาศ ขณะที่กรมศุลกากรและกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์ EV ที่ตั้งในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี จะต้องผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญ เช่น การตรวจสอบคุณภาพ และการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ โดยต้องใช้ชิ้นส่วนและวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศไทยและอาเซียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของราคาหน้าโรงงาน

ในส่วนของบีโอไอ ได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผลิตรถยนต์ EV ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ต้องมีการผลิตหรือจัดหาแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญจากผู้ผลิตในประเทศ รวมถึงแผนพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศที่มีหุ้นไทยข้างมาก (Local Supplier) โดยการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีและการสนับสนุนทางเทคนิค ซึ่งจะช่วยยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยให้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ EV เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับอุตสาหกรรม EV ต่อไป

นอกจากนี้ บีโอไอยังเน้นจัดกิจกรรมจัดหาชิ้นส่วนในประเทศ (Sourcing Event) และงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมสนับสนุน (Subcon Thailand) เพื่อสร้างเวทีจับคู่เจรจาธุรกิจ สนับสนุนให้เกิดการซื้อขายชิ้นส่วน การว่าจ้างผลิต หรือการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างชาติ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปมีบทบาทใน Supply Chain ของอุตสาหกรรม EV ให้มากที่สุด.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password