“ซิโน-ไทย”ประกาศ ปรับโครงสร้าง แตกไลน์ทำธุรกิจ “พลังงาน – สาธารณูปโภค”
‘ซิโน-ไทย’ เดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ผุดตั้ง”สเตคอน กรุ๊ป” โชว์แผนแตกไลน์ธุรกิจ ‘พลังงาน-สาธารณูปโภค’หวังลดความเสี่ยงจากธุรกิจก่อสร้าง ตั้งเป้าหมาย 5-10 ปี กำไร 4,000 ล้านบาท และมาร์เก็ตแคปแตะ 1 แสนล้านบาท ปีหน้าลุยประมูลเมกะโปรเจกต์
วันที่ 14 ธ.ค. 2566 นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ทั้งการปรับโครงสร้างการถือหุ้น และการจัดการของบริษัทฯ ด้วยการจัดตั้ง บริษัท สเตคอน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (บริษัทโฮลดิ้ง) ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ใหม่และรองรับแผนการเติบโตในอนาคตและเพื่อลดความเสี่ยงจากธุรกิจก่อสร้างที่ดำเนินการในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการยื่นขออนุมัติจากสำนักงาน (ก.ล.ต.) ราวเดือนกรกฏาคม 2567 หลังจากนั้นจะยื่นขอเพิกถอนหุ้นของบริษัทฯ ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน
ทั้งนี้แบ่งกลุ่มธุรกิจ ออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มธุรกิจหลัก คือกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง 2.กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการให้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐานและพลังงาน 3. กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการขนส่ง และ 4 กลุ่มธุรกิจอื่น ในรูปแบบจัดตั้งเป็นโฮลดิ้งคัมปะนี โดยมีแผนที่จะลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีความสามารถในการเติบโตสูง โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีกำไรเติบโตแตะระดับ 4,000 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายจะมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคป ในระดับ 1 แสนล้านบาท ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 1.24 หมื่นล้านบาท
สำหรับระยะเวลาในการปรับโครงสร้างเบื้องต้น ภายในเดือนธ.ค. 2566 จะเริ่มจัดตั้ง บมจ.สเตคอน กรุ๊ป (STECON Group) เพื่อทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ STEC จากผู้ถือหุ้นเดิม โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนการแลกเปลี่ยนกับหุ้นเดิม ในอัตราแลกหุ้น (Swap Ratio) ที่ 1ต่อ1 มีเงื่อนไขคือผู้ถือหุ้นต้องตอบรับคำเสนอซื้ออย่างน้อย 75% นี้คาดว่าการปรับโครงสร้างจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 2567
“ยอมรับว่าการปรับโครงสร้างฯ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมีปัจจัยภายนอกกระทบค่อนข้างมาก ทั้งงบประมาณภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน และปัญหาเรื่องการควบคุมต้นทุน ทำให้มองว่ามูลค่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะทรงตัวไม่เติบโตไปมากกว่านี้ ทั้งนี้ความเสี่ยงของต้นทุนการก่อสร้าง ประกอบด้วยค่าแรง ต้นทุนค่าวัสดุ รวมทั้งเสถียรภาพและนโยบายของรัฐบาล” นายภาคภูมิ กล่าว
นายภาคภูมิ กล่าวว่าแผนการดำเนินงานในปี 2567 ตั้งเป้ารายได้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างราว 30,000 ล้านบาท ขณะที่รายได้ธุรกิจใหม่คาดว่าจะยังไม่มากนัก คาดหวังได้งานประมูลใหม่ราว 40,000-50,000 ล้านบาท จากปัจจุบันซึ่งมีงานที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) กว่าแสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับระยะเวลาเริ่มประมูลงานใหม่ของภาครัฐ โดยสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลในโครงการรถไฟทางคู่ขอนแก่น – หนองคาย ,รถไฟทางคู่จิระ – อุบล มรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย , รถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีน้ำตาลและสายสีเทา, โครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ,โครงการมอเตอร์เวย์ และโครงการทางพิเศษฯ