บสย.เดินเครื่องเร่งแก้หนี้ SMEs ผ่าน 2 มาตรการเด่น! ‘ขยายวงเงิน PGS 10 + เพิ่มสีฟ้า’

“เอ็มดี.บสย.” กวักมือเรียกลูกหนี้ SMEs ทั้งกลุ่มแสดงตนและพวกซ่อนตัว เข้าร่วมมาตรการใหม่ “สีฟ้า” ที่ขยับมาตรการ 3 สีให้เข้มข้นขึ้น แค่จ่ายเพิ่ม 75% ของมูลหนี้ก็เป็นไทแล้ว เซฟเหลือๆ ได้มากถึง 15% จ่อชงเข้าที่ประชุม ครม. ทั้ง “มาตรการสีฟ้า – ขยายวงเงินพร้อมต่ออายุ PGS10” ตั้งเป้าช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่มีวินัยผ่อนชำระดี แก้หนี้ทั้งในและนอกระบบได้เร็วขึ้น  

โอกาสดีๆ มาถึงแล้ว สำหรับลูกหนี้เอสเอ็มอี ทั้งกลุ่มที่แสดงตนเข้าร่วมโครงการแก้หนี้อย่างยั่งยืนผ่านมาตรการ 3 สี (สีม่วง,เหลือง,เขียว) มาก่อนหน้านี้ และ กลุ่มที่ไม่เคยแสดงตนมาก่อน หลังจาก บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้เตรียม 2 มาตรการเสริมสำคัญสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า ภายในเดือนธันวาคม 2566 นี้ บสย.เตรียมเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1.การขอขยายกรอบวงเงินค้ำประกันเดิม โครงการ SME เข้มแข็ง หรือ PGS10 (ส่วนต่อขยาย) จำนวน 3,000 ล้านบาท จากเดิมที่มีวงเงิน 50,000 ล้านบาทและใช้หมดไปแล้ว คาดว่าจะช่วยลูกหนี้และกลุ่มอิสระ รวมถึงกลุ่มลูกหนี้ที่ใช้เงินทุนนอกระบบมากกว่า 60,000 ราย ภายใต้โครงการ Small Biz โดยใช้กลไกค้ำประกันสินเชื่อร่วมกับธนาคารออมสิน ซึ่งขณะนี้ได้ส่งเรื่องไปให้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้พิจารณาแล้ว คาดจะนำเข้า ครม.ภายในเดือน ธ.ค.นี้  

และ 2.ขยายความช่วยผู้ประกอบการแก้หนี้อย่างยั่งยืนผ่านมาตรการ 3 สี (สีม่วง,เหลือง,เขียว) เป็นมาตรการ 4 สี โดยจะเพิ่มมาตรการสีฟ้าขึ้นมาใหม่ เพื่อช่วยให้ลูกหนี้ดี มีวินัยการผ่อนชำระซึ่งอยู่ในกลุ่มสีเขียว มีผลใช้ทั้งปี 2567 โดยจะชงเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด บสย.พิจารณาเร็วๆ นี้ เพื่อส่งเรื่องดังกล่าวให้ ครม.พิจารณาในโอกาสต่อไป

ทั้งนี้ การขอขยายกรอบวงเงินค้ำประกันโครงการ PGS10 และมาตรการ 4 สี คาดว่าจะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการราวต้นปี 2567 โดยมาตรการ 4 สี จะมีการเปิดให้ลูกหนี้กลุ่มสีเขียวที่ได้รับการประนอมหนี้แล้ว ลงทะเบียนภายใน 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.67) บนช่องทาง LINE @ TCG First และศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงินเอสเอ็มอี F.A.Center และศูนย์ย่อยที่จะมีขึ้นใน 10 สาขาของ บสย. พร้อมให้คำแนะนำเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งในกลุ่มของสีเขียว ที่ได้ชำระมาแล้วก่อนหน้านี้ 10% ของวงเงินสินเชื่อ และหากจ่ายเพิ่มอีกเพียง 75% (รวมที่จ่ายก่อนหน้านี้เท่ากับ 85%) ก็สามารถจะปลดหนี้ทั้งก้อนได้แล้ว คาดว่าจะมีลูกหนี้กว่า 95,000 รายจากกลุ่มสีเขียวนี้ ลงทะเบียนเพื่อเป็นกลุ่มสีฟ้า

“ในส่วนของมาตรการ 4 สี ผมอยากเรียกร้องให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นลูกหนี้และเข้าร่วมมาตรการ 3 สี มาก่อนหน้านี้ ได้เขยิบสถานะของตัวเอง จากสีในปัจจุบัน เช่น จากสีม่วง เปลี่ยนเป็นสีเหลือหรือสีเขียว และจากสีเหลืองเป็นสีเขียว เพื่อไปสู่โอกาสเข้าร่วมมาตรการสีฟ้า รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่เคยแสดงตน หรือไม่เคยเข้าร่วมมาตรการนี้มาก่อน ได้เข้าร่วมมาตรการ 4 สี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ประกอบการเอสเอ็มอี” นายสิทธิกร กล่าวและว่า

ส่วนงบประมาณที่ใช้ในมาตรการ 4 สี จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินของ บสย. เนื่องจากได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไปแล้วก่อนหน้านี้ ในทางกลับกัน จะส่งผลดีต่อ บสย. เนื่องจากได้รับเงินใหม่เพิ่มเข้ามาอีก 75% ทำให้มีสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเอง ก็จะได้ปลดภาระความเป็นลูกหนี้และดำเนินธุรกิจของตัวเองโดยไม่มีพันธะใดๆ ที่สำคัญภาครวมอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีและระบบเศรษฐกิจโดยรวมก็จะได้ประโยชน์จากมาตรการใหม่ของ บสย.ด้วย

ภาพรวมผลการดำเนินงานรอบ 11 เดือน ณ 24 พ.ย.66 อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ วงเงิน 107,179 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ 96,461 ราย (80% ของเอสเอ็มอีกลุ่ม Micro) สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 442,649 ล้านบาท สร้างสินเชื่อในระบบ 117,597 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 811,239 ตำแหน่ง  มีฐานลูกค้า SMEs สะสมรวมกว่า 815,312 ราย จำแนกสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อรายภูมิภาค อันดับ 1 กรุงเทพฯและปริมณฑล 45%  อันดับ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15% อันดับ 3 ภาคใต้  13% อันดับ 4 ภาคเหนือ 11% อันดับ 5 ภาคตะวันออก 9%  อันดับ 6 ภาคกลาง 4% และ อันดับ 7 ภาคตะวันตก 3%

กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค้ำประกันสูงสุด ได้แก่ 1.ธุรกิจบริการ สัดส่วนค้ำฯ 30% วงเงิน 32,113 ล้านบาท (รับเหมา ภัตตาคาร ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่งโรงแรมและหอพัก บริการท่องเที่ยว) อัตราการเติบโต 3% อันดับ 2.การผลิตสินค้าและการค้าอื่น สัดส่วนการค้ำฯ 11% วงเงิน 11,378 ล้านบาท (ค้าวัสดุก่อสร้าง ค้าปลีกและแผงลอย ตลาดสด ค้าของเก่าและโทรศัพท์มือถือ) 3.เกษตรกรรม สัดส่วนค้ำฯ 10% วงเงิน 10,652 ล้านบาท (ค้าส่งผัก ผลไม้ ค้าชากาแฟ การค้าเกษตร ปศุสัตว์ ค้าส่งข้าว) 4.กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และ 5.กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคในภาคท่องเที่ยว ครองสัดส่วน 68%  โดย บสย.คาดการณ์ว่าสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในช่วงขาลงในปี 2567 ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัวดีขึ้น

โดย บสย.ได้เตรียมขับเคลื่อนองค์กรสู่ TCG Sustainability BCG-ESG ภายใต้แกนหลัก “ค้ำประกันสินเชื่อ” มีผู้ประกอบการ SMEs เป็นศูนย์กลาง ได้แก่ 1.เพิ่มโอกาสและเติมเต็มศักยภาพทางการเงิน เข้าถึงแหล่งทุนเพิ่มมากขึ้น  2.เพิ่มความรู้ เติมความเข้าใจ ยกระดับการให้คำปรึกษาทางการเงินและธุรกิจ และการช่วยลูกหนี้ สร้างโอกาสทางธุรกิจ จากโครงการจับคู่ธุรกิจ เชื่อมโยงผู้ประกอบการในรูปแบบ Business Matching 3. เพิ่มบทบาทการช่วยลูกหนี้แก้หนี้ยั่งยืน 

ทั้งนี้ ภายใต้ บทบาทด้านการค้ำประกัน SMEs  บสย. มีสัดส่วนค้ำประกันสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 6 ปี  ตั้งแต่ปี 2562 คาดว่า ในปี 2566 สัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน จะเพิ่มเป็น 29% ของยอดค้ำประกันสินเชื่อวงเงิน 1,486,812 ล้านบาท.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password