ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(29) ที่ระดับ  36.59 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.59 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.75 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมเป็นการปรับตัวแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.52-36.79 บาทต่อดอลลาร์) ตามการปรับตัวอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดออกมาผสมผสาน ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง และทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งลดความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย นอกจากนี้ การรีบาวด์ขึ้น (Technical Rebound) ของสกุลเงินหลัก ทั้งเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) จากโซนแนวรับหลักก็มีส่วนกดดันเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ได้กดดันไม่ให้เงินบาทแข็งค่าไปได้มาก

บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงมาบ้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน ส่งผลให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ (Tesla +2.4%, Meta +2.1%) ต่างรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง  อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเต็มที่ ท่ามกลางความเสี่ยงการเกิด Government Shutdown หากสภาคองเกรสยังไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณได้ทันเวลา อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในวันนี้ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.59%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.36% หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นธีมการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน อาทิ กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (LVMH +1.0%) และกลุ่มเหมืองแร่ (Rio Tinto +2.2%) ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความหวังของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า รายงานดัชนี PMI ของจีนในช่วงสุดสัปดาห์อาจสะท้อนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้น นอกจากนี้ หุ้นทั้งสองกลุ่มต่างเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Shell +1.2%)

ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน รวมถึงการย่อตัวลงของราคาน้ำมันดิบ ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงใกล้ระดับ 4.60% หลังจากพุ่งขึ้นใกล้ระดับ 4.70% ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนควรทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น โดยในปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดต่างมีสถานะ Short บอนด์ระยะยาวกันมาก ทำให้ หากมีปัจจัยที่ทำให้มุมมอง Higher for Longer เปลี่ยนไป เรามองว่า การทยอยปิดสถานะ Short อาจช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวลงได้ไม่ยากและอาจเห็นการปรับตัวลงอย่างรวดเร็วในระยะสั้นได้ (สอดคล้องกับภาวะตลาดบอนด์ช่วงนี้ที่ผันผวนสูงขึ้น โดย การปรับตัวขึ้นลงมากกว่า 10bps อาจเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาย่อตัวลง กดดันโดย Technical Rebound ของทั้งเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) ขณะเดียวกัน รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน รวมถึงการทยอยเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์เผชิญแรงขายทำกำไรบ้าง กดดันให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวลงใกล้โซน 106.2 จุด (กรอบ 106-106.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ จะย่อตัวลงบ้าง แต่ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงปรับตัวลงต่อเนื่อง โดยมีจังหวะลดลงสู่ระดับ 1,875 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 1,883 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจยังคงเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อจากทั้งฝั่งยูโรโซนและสหรัฐฯ โดยตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในช่วงราว 16.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ก่อนที่จะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในช่วงประมาณ 19.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด และ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงบ้าง หลังเงินดอลลาร์ได้อ่อนค่าลงและเริ่มแกว่งตัว sideway ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในวันนี้ นอกจากนี้ หากราคาทองคำมีการรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง หลังย่อตัวลงมาทดสอบโซนแนวรับสำคัญ ก็อาจมีโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง อย่างไรก็ดี ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงไม่หายไปไหน โดยในช่วงปลายเดือน เรายังคงเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนจากฝั่งผู้ประกอบการอยู่ นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติยังคงมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในฝั่งหุ้นที่สวนทางกับการประเมินของเรา ที่คาดว่า แรงขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติอาจชะลอลงได้ หลังดัชนี SET ได้ปรับตัวลงทดสอบโซนแนวรับ อนึ่ง การย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจช่วยลดแรงกดดันต่อบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไทย รวมถึงแรงขายบอนด์ไทยได้ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ในช่วงนี้

ทั้งนี้ ควรระมัดระวัง ความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อทั้งในฝั่งยูโรโซนและฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงนี้ ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบที่กว้างขึ้นจากช่วงปกติได้พอสมควร

เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.40-36.70 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้อัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ และประเมินกรอบเงินบาทในช่วง 36.30-36.75 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้อัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password