ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.94 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS เผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.94 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.06 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.94 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.06 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในช่วง 34.90-35.13 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตามการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้ง เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) จากรายงานข้อมูลดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของฝั่งยุโรปที่ออกมาแย่กว่าคาด อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง พร้อมกับการรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ จากรายงานดัชนี PMI ของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาดเช่นกัน ซึ่งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แย่กว่าคาดดังกล่าว ก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อและโอกาสเฟดคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน ลงบ้าง

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงชัดเจน หนุนโดยความหวังว่า รายงานผลประกอบการของบริษัท Nvidia +3.2% จะออกมาแข็งแกร่ง (ล่าสุดนักวิเคราะห์ต่างคงคำแนะนำ “ซื้อ” และปรับเป้าราคาขึ้น) ซึ่งภาพดังกล่าวยังหนุนให้หุ้นธีม AI ต่างปรับตัวขึ้นเช่นกัน (AMD +3.6%, Alphabet +2.6%) นอกจากนี้ รายงานข้อมูลดัชนี PMI สหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ยังได้คลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยและคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงของเฟด ทำให้หุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นได้ ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.59% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.10%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.39% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (SAP +1.0%, ASML +1.0%) ท่ามกลางความหวังว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจใกล้หยุดขึ้นดอกเบี้ย หลังรายงานดัชนี PMI ของยูโรโซนล่าสุดออกมาแย่กว่าคาดพอสมควร อย่างไรก็ดี รายงานดัชนี PMI จากบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลักส่วนใหญ่ที่ออกมาแย่กว่าคาด ได้กดดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลง และยังส่งผลให้หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลงเช่นกัน (Total Energies -1.7%, BP -1.4%)

ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานดัชนี PMI ของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 4.19% อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบกลับเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวมากนัก เพื่อรอประเมินสัญญาณการปรับนโยบายการเงินจากถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานสัมมนาวิชาการที่ Jackson Hole ก่อน ทั้งนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลงต่อเนื่อง ทำให้เรายังคงแนะนำ ทยอยเข้าลงทุนบอนด์ระยะยาวในจังหวะย่อตัวหรือในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาดพอสมควร ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลง สู่ระดับ 103.3 จุด (กรอบ 103.3-104 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การพลิกกลับมาลดลงของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับ 1,945 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยเรามองว่า ในช่วงที่ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นได้นั้น อาจเริ่มมีโฟลว์ขายทำกำไรการรีบาวด์ของทองคำกลับมาและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางฝั่งเอเชีย ทั้งธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) และ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมองว่า BOK และ BI มีโอกาสที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.50% และ 5.75% ตามลำดับ หลังอัตราเงินเฟ้อของทั้งสองประเทศมีแนวโน้มชะลอลงเข้าใกล้ระดับเป้าหมายของธนาคารกลาง ขณะเดียวกันแนวโน้มเศรษฐกิจก็เริ่มมีการชะลอตัวลงบ้าง ตามผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา

และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพื่อประเมินภาวะตลาดแรงงานและแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด


สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทกลับมาชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จากรายงานดัชนี PMI สหรัฐฯ ที่แย่กว่าคาด และที่น่าสนใจ คือ ในจังหวะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง (ดัชนี DXY ใกล้แตะระดับ 104 จุด) แต่เงินบาทกลับไม่ได้อ่อนค่าไปมากนักและยังคงติดอยู่ในโซนแนวต้าน 35.20 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราได้ประเมินไว้ สะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะทยอยเพิ่มสถานะ Long THB หรือรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าในการทยอยขายเงินดอลลาร์

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลผสมจะเสร็จสิ้นลง แต่เรายังไม่เห็นการกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยที่ชัดเจนของนักลงทุนต่างชาติ โดยมีเพียงแรงซื้อบอนด์ระยะสั้น (ซึ่งอาจเกี่ยวกับสถานะ Long THB) ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ยังคงต้องติดตามว่า นักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยต่อเนื่องได้หรือไม่ นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินเฟด จากถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานสัมมนาวิชาการ ที่ Jackson Hole ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนขึ้นได้ ซึ่งมุมมองดังกล่าว อาจทำให้ เงินบาทอาจทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่มีแนวโน้มที่จะติดโซนแนวรับแถว 34.75-34.80 บาทต่อดอลลาร์ (ยกเว้นว่าจะเห็นฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติไหลเข้าหุ้นไทยชัดเจน) ส่วนแนวต้านของเงินบาทก็ยังคงเป็นโซน 35.00-35.15 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.75-35.05 บาท/ดอลลาร์.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password