ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.48 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ชี้ ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.48 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.48 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 34.23-34.53 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว (ราคาทองคำถูกกดดันจากการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ)
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หลัง Fitch Rating หั่นเครดิตเรทติ้งของสหรัฐฯ ลงสู่ระดับ AA+ ซึ่งภาพดังกล่าวยังได้ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.08% จากแรงขายบอนด์สหรัฐฯ โดยส่วนหนึ่งก็มาจากการปรับพอร์ตของนักลงทุนที่มีนโยบายการลงทุนซึ่งเน้นตราสารหนี้ AAA นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้สร้างแรงกดดันต่อหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่ปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงที่ผ่านมา (Nvidia -4.8%, Amazon -2.6%) ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.38%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ลดลงกว่า -1.35% ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินจากประเด็น Fitch Rating หั่นเครดิตเรทติ้งของสหรัฐฯ รวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปที่ไม่ได้ออกมาดีเท่าไหร่นัก นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเหมืองแร่ (TotalEnergies -2.8%, Rio Tinto -2.6%) หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลงจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์
ในฝั่งตลาดบอนด์ เรากลับมองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทะลุระดับ 4.00% อีกครั้งนั้น นักลงทุนควรมองเป็นจังหวะในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ซึ่งในระยะสั้นอาจเผชิญแรงขายออกมาบ้าง (ยังคงเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เนื่องจาก Risk-Reward ถือว่าน่าสนใจ โดยเราประเมินว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจมีอีกไม่มากนัก (มองบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ทะลุระดับ 4.30%) ขณะที่ การปรับตัวลดลงยังมีโอกาสพอสมควร (คงเป้าปลายปี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แถว 3.50%) ในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง หรือ เฟดเริ่มส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงิน
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในจังหวะที่ตลาดเผชิญความผันผวนสูง ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์อาจเผชิญแรงขายทำกำไรได้บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุม BOE ในวันนี้ และรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์ ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 102.6 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 102.2-102.8 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่ทว่า การปรับตัวขึ้นของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลงใกล้ระดับ 1,972 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจต้องการซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยเรามองว่า BOE จะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +50bps สู่ระดับ 5.50% (นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มอง +25bps สู่ระดับ 5.25%) หลังอัตราเงินเฟ้ออังกฤษยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก ทั้งนี้ ตลาดจะรอลุ้นว่า BOE จะส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินในอนาคตอย่างไร โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า BOE อาจขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง สู่ระดับ 5.75%-6.00%
ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ในเดือนกรกฎาคม รวมถึง รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims)
นอกจากนี้ เรามองว่า รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Amazon, Apple (รายงานหลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดทำการ) จะเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาใกล้ชิด และอาจส่งผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า สถานการณ์การเมืองไทยจะยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อรอลุ้นการจัดตั้งว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลใหม่ในการโหวตเลือกนายกฯ ที่จะถึงนี้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ในระยะสั้น หากบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) เงินบาทก็จะยังเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ จากทั้งการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ โฟลวซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลง แรงขายสินทรัพย์ไทย หรือ แม้กระทั่งโฟลวซื้อสกุลเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าลงพอสมควรในช่วงนี้ นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองไทยก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจยังคงอยู่ในภาวะ wait and see และไม่รีบกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย (แต่ยังทยอยขายทำกำไรอยู่ได้) ทำให้เงินบาทอาจยังไม่สามารถพลิกกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงนี้ จนกว่าปัจจัยกดดันจะเปลี่ยนแปลง โดยเราคงประเมินแนวต้านเงินบาท 34.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นโซนแนวต้านแรก ที่เรายังพอเห็นแรงขายเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้เล่นในตลาด ทั้งผู้ส่งออก และผู้เล่นบางส่วนที่มีมุมมองเชิงบวกต่อเงินบาท (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้นในระยะกลาง-ยาว) แต่หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าว เรามองว่า เงินบาทก็อาจยังติดโซน 34.75 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงนี้
อย่างไรก็ตาม ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ ผลการประชุม BOE โดยหาก BOE ขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาด (ขึ้น +50bps ตามที่เราประเมิน) และส่งสัญญาณชัดเจนพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อ เงินดอลลาร์ก็อาจอ่อนค่าลงบ้าง ตามการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) แต่หาก BOE ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด และไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจน (มีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ในการขึ้นดอกเบี้ยครั้งถัดไป แบบเฟด และ ECB) ในกรณีนี้ เงินปอนด์มีโอกาสอ่อนค่าลง หนุนให้เงินดอลลาร์ยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจพลิกไปมาในช่วงนี้ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.30-34.60 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม BOE และคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.70 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม BOE.