ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง”
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS เผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้าโดยในช่วงคืนก่อนหน้า
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้าโดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideway ในช่วง 34.56-34.69 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ จากรายงานดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดนิวยอร์ก (NY Empire Manufacturing Index) ออกมาดีกว่าคาด ก่อนที่เงินดอลลาร์จะย่อตัวลงตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแกว่งตัวใกล้ระดับก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังกล่าว
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยการปรับเป้าราคาโดยนักวิเคราะห์ของบรรดา หุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ อาทิ Apple +1.7% ตามความหวังยอดขายที่มีแนวโน้มโตดีขึ้น นอกจากนี้ หุ้นเทคฯ ส่วนใหญ่ต่างยังคงได้แรงหนุนจากความหวังว่า เฟดอาจใกล้จะยุติการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.93% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.39% อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาปรับตัวลดลง -0.63% กดดันโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้บรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมและหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ต่างปรับตัวลดลง (Dior -4.7%, Rio Tinto -2.4%) ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคฯ ก็กลับมาปรับตัวลดลง (ASML -3.0%, Infineon Tech. -1.7%) จากความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของทั้งธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)
ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดนิวยอร์กที่ออกมาดีกว่าคาด ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นบ้าง แต่ผู้เล่นในตลาดยังคงรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นในการเข้าซื้อ (Buy on Dip) ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 3.80% ซึ่งเราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอทยอยเข้าสะสมการลงทุนในบอนด์ระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น อาทิ หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.00% อีกครั้ง ก็จะเป็นจุดเข้าซื้อที่น่าสนใจมาก
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามรายงานข้อมูลดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดนิวยอร์กที่ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี การรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ยังคงเผชิญแรงขายทำกำไร เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่าเฟดอาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุดการปรับขึ้นดอกเบี้ย แม้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดจะออกมาดีกว่าคาดก็ตาม ส่งผลให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) เคลื่อนไหวผันผวนใกล้ระดับ 99.9 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 99.8-100.2 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการรีบาวด์ปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) มีจังหวะย่อตัวลงบ้าง แต่โดยรวมผู้เล่นในตลาดก็ยังคงทยอยเข้าซื้ออยู่ ทำให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นมาใกล้โซน 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะอยู่ที่ รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ โดยนักวิเคราะห์มองว่า ยอดค้าปลีกเดือนมิถุนายน อาจขยายตัว +0.5% จากเดือนก่อนหน้า หนุนโดยยอดขายรถยนต์ ตามการปรับลดราคารถยนต์ในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ยอดค้าปลีกที่ไม่รวมผลของยอดขายรถยนต์และน้ำมัน (Retail Sales Ex. Auto & Gas) อาจโตเพียง +0.1%m/m ชี้ว่าผู้บริโภคฝั่งสหรัฐฯ ก็เริ่มปรับลดการใช้จ่ายลง โดยเฉพาะในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะมีทั้งสถาบันการเงินและบริษัทเทคฯ ขนาดใหญ่ อาทิ BofA, Morgan Stanley เป็นต้น
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่บ้าง จากทั้งการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ แต่ทว่า การแข็งค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติอาจรอความชัดเจนของสถานการณ์การเมืองไทยอยู่ ทำให้แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจยังพอมีอยู่บ้าง โดยเฉพาะ แรงขายบอนด์ระยะสั้น นอกจากนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดการเงินทยอยรับรู้รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ และหุ้นสถาบันการเงินใหญ่ของสหรัฐฯ เพราะหากตลาดผิดหวังกับรายงานผลประกอบการ ก็อาจทำให้ตลาดการเงินพลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ซึ่งอาจเห็นเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นได้เช่นกัน
ทั้งนี้ เรามองว่า ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideway ในกรอบที่เคยประเมินไว้ โดยมีโซนแนวรับในช่วง 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนโซนแนวต้านยังคงอยู่ในช่วง 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลง อาทิ บรรยากาศในตลาดการเงิน การประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน (ถ้ามี) และสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงระยะสั้น
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจพลิกไปมาในช่วงรับรู้รายงานผลประกอบการ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.70 บาท/ดอลลาร์.