DAD จัดพิธีปิดหลังคาศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซน C เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียว คาดเข้าใช้พื้นที่จริง Q1/67
ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ ยึดฤกษ์งามจัดพิธีปิดหลังคาอาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซน C ย้ำ! ไตรมาสแรกปีหน้า มีหลายงานทยอยเข้าใช้พื้นที่ มีแค่ไม่กี่แห่งที่ขอปรับแบบหลังได้ผู้บริหารใหม่ แต่ไตรมาส 2 ปีเดียวกัน ต้องใช้พื้นที่แน่ เล็งมเร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ หวังเพิ่มพื้นที่สีเขียวกว่า 41 ไร่ ด้าน เอ็มดี. DAD มั่นใจ ระบบจราจรภายในฯ รองรับผู้คนแต่ละวันถึง 4 หมื่นคนได้อย่างแน่นอน
มงคลอันเป็นฤกษ์งามยามดีตลอดทั้งวันของ 4 มกราคม 2566 นั่นคือเหตุผลให้ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ DAD ผู้บริหารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ และเป็น บริษัทลูกของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง โดยมี ผู้บริหารระดับสูงชื่อ ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการฯ นำ คณะผู้บริหาร พนักงาน พันธมิตรธุรกิจ และสื่อมวลชน ร่วมพิธีปิดหลังคาอาคารโครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซน C เมื่อช่วงบ่ายของวันดังกล่าว ซึ่งเป็นพิธีที่แสดงให้เห็นว่า ขั้นตอนในการก่อสร้างอาคารได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือแต่เพียงงานปิดเปลือกอาคาร งานด้านสถาปัตยกรรมภายใน งานตกแต่งภายใน และงานครุภัณฑ์ลอยตัวภายในพื้นที่หน่วยงานเท่านั้น โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและส่งมอบพื้นที่ให้หน่วยงานทยอยเข้าใช้อาคารได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 ปี 2567
ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวว่า มีหน่วยงานหลักที่ได้รับการจัดสรรพื้นที่สำนักงานภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซน C จำนวน 12 หน่วยงาน ได้แก่ 1. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 2. สำนักงานศาลปกครองสูงสุด 3. กรมสอบสวนคดีพิเศษ 4. สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน 5. สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า 6. สำนักงานอัยการสูงสุด 7. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 8. กรมการท่องเที่ยว 9. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 10. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา 11. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และ 12. สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่กรุงเทพมหานคร 5 โดยหน่วยงานที่ได้ยืนยันแบบผังการใช้พื้นที่และไม่มีการปรับแก้ไขแบบเพิ่มเติม เช่น สำนักงานศาลปกครองสูงสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานอัยการสูงสุดและ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เป็นต้น จะสามารถทยอยเข้าใช้พื้นที่ได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2567
“ส่วนใหญ่ของหน่วยงานทั้งหมด จะเริ่มดำเนินการงานด้านสถาปัตยกรรมภายใน งานตกแต่งภายใน และงานครุภัณฑ์ลอยตัวได้ในทันที จะมีบ้างที่จำเป็นต้องปรับแก้ไขแบบเพิ่มเติม เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมการท่องเที่ยว ฯลฯ เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูง จึงต้องปรับดีไซน์และฮวงจุ้ยให้ตรงกับความต้องการใหม่ แต่ทั้งหมดไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง หรือสร้างความรำคาญให้กับหน่วยงานที่ได้เข้าใช้พื้นที่ก่อนหน้านี้ โดยหน่วยงานที่มีการปรับแก้ไขแบบเพิ่มเติม จะต้องเร่งสรุปแบบให้ได้โดยเร็ว หากหน่วยงานเร่งสรุปแบบ ก็จะสามารถเข้าใช้อาคารได้ในช่วงปลายไตรมาส 2 ปี 2567” เอ็มดี. DAD ระบุและว่า ทุกหน่วยงานจะต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่ในราคา 390 บาท/ตร.ม. โดยจะปรับขึ้น 7% ในทุกๆ 5 ปี ทั้งนี้ เพื่อที่ DAD จะนำไปชำระคืนหนี้เงินกู้ในโครงการก่อสร้างราว 20,000 ล้านบาท ต่อไป
สำหรับ พื้นที่รวมของการก่อสร้างอาคารโซน A B และ Cรวมกันกว่า 378 ไร่นี้ สามารถรองรับผู้คนที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ทั้ง 3 โซน ราว 40,000 คน โดยเป็นส่วนที่เพิ่มมาจากโซน C จำนวน 15,000 คน จากเดิมที่อยู่ก่อนแล้ว 25,000 คน นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่จัดแบ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง และศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้คนที่เข้ามาใช้บริการอีกเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม DAD ได้จัดทำแผนงานด้านการจราจร รองรับการเข้ามาใช้บริการภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้ ซึ่งเฉพาะพื้นที่ของอาคารทั้ง 3 โซนที่มีมากกว่า 4,000 คันแล้ว ยังได้จัดสร้างอาคารจอดรถความสูง 11 ชั้น รองรับรถยนต์ 1,700 คัน โดยจะเปิดให้ข้าราชการและประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ที่มาใช้บริหารของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้จอดรถ พร้อมจัดรถรับส่งภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อนำส่งไปยังอาคารต่างๆ รวมถึงจัดสร้างเส้นทางเท้าความยาว 1,200 เมตร จากอาคารที่จอดรถถึงสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดปัญหาการจราจรได้อีกด้วย ส่วนอัตราค่าจอดรถจะเป็นเท่าใด ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่จะเน้นที่เป้าหมายลดการใช้รถยนต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนสร้างอาคารจอดรถเสร็จภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ อีกความภาคภูมิใจของการ่อสร้างอาคารต่างๆ ภายในศูนย์ราชการแห่งนี้ คือ แผนการปรับปรุงภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยพันธุ์ไม้ต่าง ๆ โดยรอบศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซน C เพื่อให้บรรยากาศโดยรวมมีความร่มรื่น สดชื่น ผ่อนคลาย เอื้อประโยชน์ทั้งต่อการทำงาน การพักผ่อน การออกกำลังกาย และใช้เป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรม ซึ่งเมืองสีเขียวแห่งนี้จะมิใช่เพียงอำนวยความสะดวกแก่ข้าราชการ พนักงาน และผู้ที่มาติดต่อในศูนย์ราชการเท่านั้น แต่จะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อให้บริการชุมชนโดยรอบรวมถึงประชาชนทั่วไป เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
โดยพื้นที่ภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซน A โซน B และ โซน C นั้น DAD มีแผนที่จะพัฒนาให้เกิดเป็นพื้นที่สีเขียวทั้งในระดับพื้นดินและสวนลอยฟ้ารวมกว่า 40 ไร่ หรืออย่างน้อยคิดเป็น 10% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 5 พื้นที่ ดังนี้
1. พื้นที่สีเขียวบริเวณอาคารจอดรถและซ่อมบำรุง (Depot) มีขนาดพื้นที่ 5.05 ไร่ มีการจัดสวนด้วยไม้ยืนต้นผสมไม้พุ่ม และบนชั้นดาดฟ้าของอาคารจะทำเป็นสวน Urban Farming หรือฟาร์มเกษตรสำหรับคนเมือง สำหรับอาคารจอดรถอาคาร A เดิม DAD ได้พัฒนาพื้นที่ในรูปแบบ Welcoming Garden พร้อมลานกิจกรรม เปรียบเสมือนสวนหน้าบ้านที่คอยต้อนรับผู้ที่จะเข้ามาภายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ
2. พื้นที่สีเขียวบริเวณสวนหลังศาลพระพรหม ขนาด 5.75 ไร่ DAD ได้ดำเนินการปรับภูมิทัศน์ทำเป็นสวนสาธารณะขนาดย่อมแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย นอกจากจะใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจหลบร้อนจากร่มเงาของไม้ใหญ่ ยังใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมในสวน อาทิ กิจกรรมประกวดภาพถ่ายภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ งานวันลอยกระทง และงาน Garden Food Truck อีกด้วย
3. พื้นที่สีเขียวบริเวณเกาะกลางถนนตั้งแต่ซอยแจ้งวัฒนะ 7 ถึง อาคารรัฐประศาสนภักดี ขนาดพื้นที่เป็นแนวยาวรวม 12.05 ไร่ ซึ่งจะปลูกต้นไม้ใหญ่เรียงยาวเป็นทิวแถวกว่า 1,200 ต้น สร้างความร่มเย็น สดชื่น สบายตาด้วยสีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์ตลอดเส้นทาง นอกจากจะเป็นสวนสวยแล้วยังตั้งเป้าจะเป็นจุดเช็คอินอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร แลนด์มาร์คแห่งใหม่บนถนนแจ้งวัฒนะ
4. พื้นที่สีเขียวหน้าอาคารรัฐประศาสนภักดี ขนาดพื้นที่ 12.65 ไร่ ซึ่งเชื่อมต่อกับสวนหลังศาลพระพรหม เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะกลายเป็นสวนสาธารณะ ที่จะเป็นพื้นที่สำหรับนั่งพักผ่อนหย่อนใจ โดยจะอยู่บริเวณประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกของอาคารรัฐประศาสนภักดี และสามารถมองเห็นอาคาร C ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามได้ อีกด้วย
และ 5. พื้นที่สีเขียวเชื่อมต่อระหว่างอาคาร B กับอาคาร C ขนาดพื้นที่ 5.10 ไร่ โดยเมื่อศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซน C แล้วเสร็จทั้งหมดช่วงปลายปี 2567 ประกอบกับแผนการปรับปรุงภูมิทัศน์เพิ่มพื้นที่สีเขียวแล้วเสร็จ โดยไล่เรียงจากสวนสวยหน้าบ้านที่คอยต้อนรับทุกคนจากการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เชื่อมต่อด้วยทิวต้นราชพฤกษ์เหลืองอร่ามร่มเย็นตลอดเส้นทางสู่อาคาร A และอาคาร B ส่งต่อด้วยสวนสาธารณะเขียวชอุ่มสู่อาคาร C ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมครั้งใหญ่ยกระดับให้ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ เป็นต้นแบบเมืองสีเขียวลดและอนุรักษ์การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน.