ส.อ.ท.เผย ผลสำเร็จจากการเยือนซาอุดีอาระเบีย

ส.อ.ท.เผย ผลสำเร็จจากการเยือนซาอุดีอาระเบีย ในการขยายตลาดและผลักดันการค้า-การส่งออกของไทย พร้อมร่วมลงนามความร่วมมือจัดตั้ง Joint Business Council (JBC) กับ The Federation of Saudi Chambers of Commerce (FSCC)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมด้วย รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายอภิชิต ประสพรัตน์ นายชาติชาย พานิชชีวะ นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา และกรรมการบริหาร ส.อ.ท. นายนาวา จันทนสุรคน ร่วมเดินทางพร้อมด้วยภาคเอกชนกว่า 130 ราย โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำทีมหารือกับผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของซาอุดีอาระเบีย อาทิ กระทรวงพาณิชย์ซาอุดีอาระเบีย องค์การอาหารและยาซาอุดีอาระเบีย (SFDA) สภาหอการค้าซาอุดีอาระเบีย และบริษัท Saudi Basic Industries Corporation (SABIC) เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน และเจรจาหาลู่ทางขยายการนำเข้าสินค้าไทยให้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งลดปัญหาและอุปสรรคระหว่างกันอีกด้วย ในระหว่างวันที่ 27 – 31 สิงหาคม 2565 ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร. หรือ JSCCIB) ได้ร่วมลงนามความร่วมมือ (MOU) การจัดตั้ง Joint Business Council (JBC) กับ The Federation of Saudi Chambers of Commerce (FSCC) โดยมี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ให้เกียรติเป็นสักขีขยานในพิธีลงนาม

การร่วมลงนามความร่วมมือ MOU ระหว่างสภาเอกชนของประเทศไทยกับสภาเอกชนของซาอุดีอาระเบีย ในครั้งนี้ เป็นการผลักดันและส่งเสริมขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร อุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจบริการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ในตลาดซาอุดีอาระเบีย และเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาทางการค้าคาดการณ์ว่าสามารถทำการค้าร่วมกัน ซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ภายในหนึ่งปี นับตั้งแต่วันที่มีการลงนามจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย ขึ้น

เพราะในขณะนี้ประเทศซาอุดีอาระเบียต้องการดึงนักลงทุนจากทั่วโลกและนักลงทุนจากไทย เพื่อไปร่วมโครงการ Saudi Vision 2030 ที่ตั้งเป้าหมายจะนำพาซาอุดีอาระเบียไปสู่อนาคตใหม่ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม กับนโยบายในการสร้างเมืองใหม่ที่มีชื่อว่า นีอุม NEOM (Saudi Arabia Smart City) เมืองไฮเทคแห่งอนาคต จุดประสงค์หลักคือ ลดการพึ่งพาน้ำมัน และเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ซึ่งไทยสามารถสร้างโอกาสโดยการส่งออกสินค้าที่ช่วยหนุนในนโยบายนี้ได้ เช่น เฟอร์นิเจอร์ สินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้างจากการก่อสร้างและขยายเมืองใหม่

รวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับวัสดุก่อสร้าง เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และโอกาสในการส่งออกสินค้าเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น รวมไปถึงการส่งออกสินค้าอาหารของไทยก็ยังมีแนวโน้มเติมโตได้ ประกอบกับไทยถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก โดยเฉพาะอาหารฮาลาล ซึ่งมีความได้เปรียบทั้งด้านโลจิสติกส์และมีสินค้าที่มีความหลากหลายตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี และในโครงการนี้ยังตั้งเป้าในการปลูกต้นไม้มากถึง 10,000 ล้านต้น ประเทศไทยหลายภาคส่วนก็มีความสนใจดึงนักลงทุนจากซาอุดีอาระเบียมาลงทุนที่ประเทศไทย ทั้งการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว รวมทั้งภาคการผลิตอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

นายเกรียงไกร ยังกล่าวอีกว่า การที่ไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงระดับต้นๆ ของโลก จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรได้หลายหลายมิติได้ เช่น อาหาร, อาหารเสริม, ยารักษาโรค, เครื่องสำอาง Biofabrics เส้นใยผ้าในอุตสาหกรรมสิ่งทอ Biochemical, Biofertilizer และ Biofuel รวมถึง food for the future เช่น โปรตีนจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์ เป็นต้น โดยการพัฒนาอุตสาหกรรม BCG การนำสิ่งที่เรามีอยู่แล้วมาสร้างความเข้มแข็งจากภายใน และเชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก ทั้งเรื่องการเกษตร อาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงานสะอาด การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นต้น อีกทั้ง ส.อ.ท. มีการขับเคลื่อนโครงการ Smart Agricultural Industry หรือ SAI เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรและมุ่งพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับพื้นที่

นอกจากการค้า การลงทุน ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย นั้น ภาคเอกชนขอให้ทางประเทศซาอุดีอาระเบียดำเนินการ เรื่อง การขอวีซ่าระหว่าง ไทย-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อปลดล็อคเรื่องการขอวีซ่าที่ใช้ระยะเวลานาน หากทางซาอุดีอาระเบีย ช่วยเร่งรัด และกระชับในกระบวนการนี้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดีในการส่งเสริมการค้าการลงทุน การท่องเที่ยวระหว่างประเทศ และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกด้วย

การเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ ยังพบอีกว่า ประเทศซาอุดีอาระเบียยังมีความต้องการการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอีกเป็นจำนวนมาก มีทุนแต่ยังขาดความรู้ในการผลิต จึงต้องการเชิญชวนให้นักธุรกิจไทยไปลงทุน พร้อมเสนอสิทธิประโยชน์มากมาย และขณะนี้ประเทศซาอุดีอาระเบียยังเตรียมจัด Webinar ให้กับผู้ประกอบการไทยได้รับทราบถึงความต้องการของประเทศซาอุดีอาระเบีย

โดยเฉพาะทางด้านชิ้นส่วนยานยนต์ หากมองถึงโอกาสในการส่งออก และนำเข้าของไทยในตลาดซาอุดีอาระเบียนั้น ไทยมีศักยภาพเกือบทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็น สินค้ากลุ่มอาหารและวัตถุดิบทางการเกษตร เช่น ผักผลไม้ ที่มีการส่งออกไปซาอุฯ ถึงวันละประมาณ 3 ตัน ทำให้ตัวเลขมูลค่าการค้าระหว่างไทยและซาอุฯ ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวนมากถึง 5,730 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 46.42 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปี 2564

ซึ่งแบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 1,112.42 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.79 และการนำเข้า มูลค่า 4,617.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.83 และในอนาคต FTA ไทย-กลุ่ม GCC (Gulf Cooperation Council; กลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ) ก็น่าจะเป็นโอกาสทองของไทยในการขยายการค้ากับกลุ่มอ่าวอาหรับ 6 ประเทศ ดังนั้น ไทยควรเร่งทา FTA เพื่อขยายการค้า การลงทุน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าจากจีน เกาหลีใต้ ที่กาลังเร่งขยายตลาดการค้าใน GCC

จากนั้นได้เดินทางเข้าพบหารือกับผู้บริหารบริษัท Saudi Basic Industries Corporation (SABIC) และเยี่ยมชมโรงงานปุ๋ย เพื่อพูดคุยทางเคมี ซึ่งเป็นพื้นฐานในการผลิตปุ๋ย ในขณะที่ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนปุ๋ย ผลอันเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย ยูเครน ซึ่งทางบริษัท SABIC ยินดีที่จะเพิ่มปริมาณการส่งออกปุ๋ยให้กับผู้ประกอบการไทย หากมีความต้องการเพิ่มขึ้น และได้เข้าพบปะสถานทูตไทย โดยปัญหาหนึ่งที่ได้รับทราบคือ แรงงานไทย ยังถูกมองว่าเป็นแรงงานราคาถูก จึงยังมีจำนวนแรงงานที่เข้ามาในซาอุดีอาระเบียไม่มากนักในตอนนี้

การเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งประวัติศาสตร์ในรอบ 30 ปีที่ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ในการสร้างความสัมพันธ์ในระดับสูงกับประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงเพื่อผลักดันการนำเข้าสินค้าไทยในซาอุดีอาระเบียให้ขยายตัวเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และอาหาร ที่เป็นสินค้าสำคัญของประเทศ และสินค้าสำคัญอื่นๆ ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password