พาณิชย์แจงธุรกิจจัดตั้งใหม่ปี ‘67 เฉียดเป้า 9 หมื่นราย โต 2.37% – เช็คด่วน! เทรนด์ธุรกิจตั้งใหม่/เลิกกิจการ
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย! จดทะเบียนธุรกิจใหม่สะสม 11 เดือน แตะ 8.3 หมื่นราย เพิ่มขึ้น 2.37% เฉพาะ พ.ย.2567 จดทะเบียน 6,266 ราย เพิ่มขึ้น 4.80% คาดตลอดปี 2567 จัดตั้งธุรกิจใหม่ใกล้แตะเป้าหมาย 9 หมื่นราย ระบุ! การลงทุนของต่างชาติรวม 2.14 แสนล้านบาท ญี่ปุ่นครองแชมป์ ส่วนธุรกิจขอเลิกกิจการสะสม 11 เดือนรวม 17,614 ราย ลดลง 1.37% คิดเป็นยอดเงิน 136,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.32% เช็คเลย! เทรนด์จดทะเบียนธุรกิจใหม่และธุรกิจเลิกกิจการ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯได้วิเคราะห์สถานการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า มีธุรกิจจัดตั้งใหม่ 6,266 ราย เพิ่มขึ้น 287 ราย (4.80%) เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 (5,979 ราย) และทุนจดทะเบียน 24,219.88 ล้านบาท ลดลง 1,053 ล้านบาท (4.17%) เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 (25,273 ล้านบาท) โดยในเดือนนี้ มีนิติบุคคลที่จดทะเบียนทุนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 3 ราย คือ บริษัท วัฒนาเวชวิวัฒน์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 1,241 ล้านบาท บริษัท หย่าตง (ไทยแลนด์) จำกัด ทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท และบริษัท ซิโน-ไทย เทคโนโลยี อินดัสเทรียล ปาร์ค กรุ๊ป (ไทยแลนด์) ทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 460 ราย ทุนจดทะเบียน 1,337 ล้านบาท ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 460 ราย ทุนจดทะเบียน 4,186 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 278 ราย ทุนจดทะเบียน 514 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.34% 7.34% และ 4.44% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในเดือนพฤศจิกายน 2567
อธิบดีฯอรมน กล่าวอีกว่า การจัดตั้งธุรกิจใหม่สะสม 11 เดือนของปี 2567 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีจำนวน 83,219 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (81,291 ราย) เพิ่มขึ้น 1,928 ราย (2.37%) ทุนจดทะเบียน 262,850 ล้านบาท ลดลง 284,006 ล้านบาท (51.93%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (546,856 ล้านบาท) สาเหตุที่ทุนจดทะเบียนลดลงอย่างผิดปกติสืบเนื่องจากปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์โดยมี 2 ธุรกิจที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมและแปรสภาพ อย่างไรก็ดี ช่วง 11 เดือนที่ผ่านมามีการจัดตั้งธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 14 ราย เช่น กิจการค้าส่งและค้าปลีก จำหน่ายแว่นตาและอุปกรณ์ และกิจการ Data Center
ส่วนการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนพฤศจิกายน 2567 มีจำนวน 2,852 ราย เพิ่มขึ้น 244 ราย (9.36%) เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 (2,608 ราย) และมีทุนจดทะเบียนเลิก 10,173 ล้านบาท ลดลง 7,201 ล้านบาท (41.44%) เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 (17,374 ล้านบาท) ในจำนวนนี้มีธุรกิจเลิกที่ทุนจดทะเบียนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจ 1 ราย ทั้งนี้ ช่วงไตรมาสสุดท้ายถือเป็นปกติของของการจดเลิกประกอบกิจการ เนื่องจากธุรกิจต้องการจัดทำบัญชีให้เสร็จภายในรอบปีบัญชีนั้น ซึ่งจะไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายในการจัดทำบัญชีในปีถัดไป สำหรับ ประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 220 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนเลิก 678 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 156 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 1,660 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 90 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 190 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.74% 6.20% และ 3.58% จากจำนวนการเลิกประกอบธุรกิจในเดือนพฤศจิกายน 2567
ทั้งนี้ การจดทะเบียนเลิกสะสม 11 เดือนของปี 2567 (มกราคม-พฤศจิกายน 2567) มีจำนวน 17,614 ราย ลดลง 244 ราย (1.37%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (17,858 ราย) ทุนจดทะเบียนเลิกสะสมอยู่ที่ 136,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28,350 ล้านบาท (26.32%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (107,729 ล้านบาท) โดยในช่วงเวลา 11 เดือนที่ผ่านมามีธุรกิจทุนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จดทะเบียนเลิกทั้งสิ้น 10 ราย เป็นประเภทธุรกิจที่หลากหลาย เช่น กิจการโทรคมนาคม โรงงานผลิต จำหน่าย ให้เช่าเทปคาสเซ็ท แผ่นเสียง และค้าปลีกผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567) มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,960,452 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 30.54 ล้านล้านบาท โดยมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่จำนวน 944,008 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22.50 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็นบริษัทจำกัดจำนวน 740,373 ราย หรือ 78.43% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 16.31 ล้านล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลจำนวน 202,152 ราย หรือ 21.41% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 0.47 ล้านล้านบาท และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,483 ราย หรือ 0.16% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 5.72 ล้านล้านบาท
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยขยับเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น เป็นผลมาจากการท่องเที่ยวที่เป็นตัวกระตุ้นให้เงินเข้าสู่ประเทศ ผู้บริโภคเริ่มผ่อนคลาย ในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ประกอบกับการที่ภาครัฐออกนโยบายต่างๆ เพื่อช่วยภาคเศรษฐกิจและประชาชนพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเข้มแข็ง
ขณะที่ การลงทุนประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ 11 เดือน ของปี 2567 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 884 ราย โดยเป็น การลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 202 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 682 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 213,964 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 3,671 คน
โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ญี่ปุ่น 239 ราย (27%) ลงทุน 119,057 ล้านบาท 2) สิงคโปร์ 120 ราย (14%) ลงทุน 16,332 ล้านบาท 3) จีน 117 ราย (13%) ลงทุน 16,674 ล้านบาท 4) สหรัฐอเมริกา 115 ราย (13%) ลงทุน 23,555 ล้านบาท และ 5) ฮ่องกง 62 ราย (7%) ลงทุน 14,508 ล้านบาท
สำหรับ การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วง 11 เดือน ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 281 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 161 ราย (134%) (เดือน ม.ค. – พ.ย. 67 ลงทุน 281 ราย / เดือน ม.ค. – พ.ย. 66 ลงทุน 120 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 50,396 ล้านบาท คิดเป็น 24% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 30,865 ล้านบาท (158%) (เดือน ม.ค. – พ.ย. 67) เงินลงทุน 50,396 ล้านบาท / เดือน ม.ค. – พ.ย. 66 เงินลงทุน 19,531 ล้านบาท เป็นนักลงทุนจาก ญี่ปุ่น 96 ราย ลงทุน 18,637 ล้านบาท จีน 67 ราย ลงทุน 9,284 ล้านบาท ฮ่องกง 19 ราย ลงทุน 5,223 ล้านบาท และ ประเทศอื่นๆ 99 ราย ลงทุน 17,252 ล้านบาท
โดย ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม (สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์) ธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบส่วนประกอบและชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน ธุรกิจบริการชุบแข็ง ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เช่น ชิ้นส่วนยานพาหนะ ชิ้นส่วนโลหะ ชิ้นส่วนพลาสติก เป็นต้น.