อีอีซี จับมือ อบจ.ระยอง ปตท. สร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ อีอีซี

อีอีซี จับมือ อบจ.ระยอง ปตท. ขับเคลื่อนมาตรการรองรับผลผลิต รักษาเสถียรภาพราคาผลไม้ คลายปัญหา สร้างความเชื่อมั่น สร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ อีอีซี

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ร่วมกับ องค์กรบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและรักษาเสถียรภาพราคาผลไม้ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมี นายปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี และนายชาญศักดิ์ ชื่นชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่วิศวกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุม 3 องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า “ผลไม้ไทย” ในหน้าร้อนนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ อีอีซี คาดว่า“ผลผลิต” จะ “เพิ่มขึ้น” จากปี 2564 ประมาณร้อยละ 25 ในขณะเดียวกัน จีนซึ่งเป็นตลาดหลัก มีมาตรการ Zero Covid ทำให้มีความเข้มงวดในการขนส่ง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อราคาของผลไม้ และต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมการรักษาเสถียรภาพของราคาผลไม้ในภาคตะวันออกให้กับเกษตรกร สกพอ. อบจ.ระยอง และ ปตท. จึงร่วมมือกันในการเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับผลผลิตผลไม้ที่กำลังจะออกสู่ตลาดในเร็ว ๆ นี้ ด้วยการเข้าไปช่วยรับซื้อผลไม้ตรงจากเกษตรกร จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ เพื่อขยายช่องทางตลาดภายในประเทศ

รวมถึงจัดเตรียมคลังห้องเย็นสำหรับจัดเก็บรักษาผลไม้ ช่วยยืดอายุผลผลิต คงความสดและรสชาติได้นาน ซึ่งจะช่วยขยายตลาดภายในประเทศ จากเกษตรกรสู่ผู้บริโภคโดยตรง ไม่ผ่านคนกลาง ผู้บริโภคได้สินค้าคุณภาพดีในราคามิตรภาพ และช่วยกระจายสินค้าภายในประเทศได้มากขึ้น สำหรับห้องเย็นจะช่วยพยุงราคาสินค้าในพื้นที่ไม่ให้ตกต่ำในกรณีที่ส่งออกไม่ทันและราคาลดลง ซึ่งจะสร้างทางเลือกให้เกษตรกรในการเก็บรักษาผลผลิต เพื่อรอจำหน่ายในช่วงนอกฤดูกาล ที่มีราคาสูง เป็นการยกระดับ “ราคาผลไม้” ให้มีเสถียรภาพขึ้น และทำให้เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืนอีกด้วยบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งนี้ จึงเป็นความร่วมมือจากทั้ง 3 หน่วยงาน ดังนี้

1.จัดตั้งศูนย์รับซื้อและรวบรวมผลไม้ วงเงิน 100 ล้านบาท โดย อบจ.ระยอง ได้ร่วมกับผู้ประกอบการ และภาคเอกชน จะทำหน้าที่จัดหาและรวบรวบผลไม้ที่ผ่านการคัดคุณภาพตามมาตรฐาน สด สะอาด และปลอดภัย และกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคภายในประเทศ

2.จัดเตรียมคลังห้องเย็น โดย ปตท. เป็นผู้จัดเตรียมคลังห้องเย็นสำหรับจัดเก็บผลไม้แช่แข็ง ซึ่งรองรับปริมาณผลผลิตประมาณ 7,000 – 8,000 ตัน ให้บริการแก่เกษตรกร และผู้ประกอบการต่างๆ ให้มีทางเลือกในการเก็บรักษาและคงคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสามารถรอจำหน่ายในช่วงนอกฤดูกาลผลิต

3.การประชาสัมพันธ์ โดย สกพอ. ทำหน้าที่จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ และช่วยขยายช่องทางการตลาดในกลุ่มพันธมิตรภายในพื้นที่ อีอีซี เช่น กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มผู้ประกอบการแปรรูปผลไม้ กลุ่ม สถานประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ตลอดจนเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ และภาคเอกชนนอกพื้นที่ต่างๆ

เลขาธิการ อีอีซี กล่าวเสริมว่า ทุเรียนเป็นผลไม้หลักของระยอง และเป็น 1 ใน 5 คลัสเตอร์หลักของแผนพัฒนาภาคการเกษตรในพื้นที่ EEC โดยจะดำเนินการในเรื่องของ การตลาด การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยี ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก ด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งได้มีการดำเนินงานไปแล้วร่วมกับ สวทช. เช่น ระบบการให้น้ำ และ ถุง Magik Growth เป็นต้น

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password