หอการค้า เผย ก.ค. ความเชื่อมั่นปชช. ธุรกิจ ลดลง ปชช.82.6% ลงทะเบียนรับเงินดิจิทัล
ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ค. ปรับลงต่อเนื่องเดือนที่ 5 ต่ำสุดรอบ 11 เดือน กังวลเศรษฐกิจฟื้นช้า-การเมืองขาดเสถียรภาพ ขณะที่ปชช. 82.6% พร้อมใจลงทะเบียนรับเงินดิจิทัล โดย64% จะใช้จ่ายรวดเดียวให้หมดทันที1หมื่นบาท
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นำโดย ดร.ธนวรรณ์ พลวิชัย อธิบการบดี แถลงข่าว ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ก.ค.67 อยู่ที่ 57.7 ลดลงจาก 58.9 ในเดือน มิ.ย.67 โดยปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ย.66 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมากังวลว่าการเมืองไทยเริ่มขาดเสถียรภาพเกี่ยวกับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะตัดสินเรื่องการยุบพรรคก้าวไกล และความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีอย่างไร ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองในอนาคต และกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า เพราะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน
ขณะเดียวกันราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และผู้บริโภคยังคงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 51.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 54.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 66.8 ลดลงจากเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 52.6 56.1 และ 67.9 ตามลำดับ
สำหรับภาคประชาชน ปัจจัยหลักต่อความเชื่อมั่นลดลง คือ ผู้บริโภคกลับมากังวลว่าการเมืองไทยเริ่มขาดเสถียรภาพเกี่ยวกับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะตัดสินเรื่องการยุบพรรคก้าวไกลและความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองในอนาคต และกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทย ยังคงชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า เพราะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และผู้บริโภคยังคงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย รวมถึงส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
“ผลสำรวจสะท้อนว่าประชาชนและนักธุรกิจมองเศรษฐกิจแย่ลงตามลำดับ แม้รัฐเร่งเบิกจ่ายงบปี 2567 แต่ก็บางเดือนยังเบิกจ่ายเท่าเดิม เริ่มกังวลต่อการเมืองในประเทศ และเศรษฐกิจโลกชะลอกว่าคาดการณ์ ดังนั้น โอกาสที่ความเชื่อมั่นจากนี้จะยังเป็นขาลงได้ต่อ ซึ่งความเชื่อมั่นน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ในอนาคตอันใกล้ รัฐบาลต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐ ผ่านการลดค่าเช่าหรือยกเว้นค่าแผง จัดจำหน่ายสินค้าราคาประหยัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นทั้งการระบายสินค้า ประชาชนได้ซื้อสินค้าราคาประหยัดและสร้างอาชีพรายย่อนและชุมชน เสมือนเป็นกึ่งดิจิทัลวอลเล็ต ก่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทจะเริ่มได้ปลายไตรมาสสี่ปีนี้ต่อเนื่องไตรมาสแรกปีหน้า ซึ่งหากเป็นไปตามแผนดิจิทัลวอลเล็ต จะช่วยเพิ่มจีดีพีไตรมาสสี่ปีนี้อีก 0.5-0.7% และเพิ่มจีดีพีทั้งปีนี้ 0.2-0.3% ทำให้จีดีพีทั้งปีขยายตัว 2.6-2.8% จากที่ศูนย์พยากรณ์คาดการณ์ขยายตัว 2.5%” นายธนวรรธน์กล่าว
ส่วนเมื่อถามถึงควมกังวลในปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่กังวลมากสุดในด้านค่าครองชีพสูง เศรษฐกิจชะลอตัว แบกภาระหนี้สูง ความมั่นใจต่อรายได้และอาชีพ ดอกเบี้ยทรงตัวสูง ในสำรวจพบว่า 35% ระบุสถานะการเงินแยางลง 47% ระบุรายได้เพียงพอแต่ไม่มีเงินเก็บ 26.4% รายได้ไม่เพียงพอ และต้องกู้ยืม 34% มีภาระหนี้เพิ่มกว่าปีก่อน และกว่า 69% ระบุเศรษฐกิจแย่ลงและแย่ลงมาก
“ถามถึงเงินดิจิทัลในกลุ่มที่ได้ตามเงื่อนไข 82.6% ระบุลงทะเบียนแน่นอน โดย 64% ระบุใช้จ่ายทั้งหมด 10,000 บาทในครั้งเดียว ที่เหลือจะแบ่งใช้จ่าย ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและการศึกษาเป็นอันดับแรก โดยเสนอให้เพิ่มจ่ายค่าน้ำมันและพลังงาน เครื่องใช้ไฟฟ้า มือถือและภาคบริการด้วย ” นายธนวรรธน์ กล่าว.