ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางตึงเครียดมากขึ้นขณะที่ OPEC+ ขยายเวลาลดกำลังการผลิตต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2567 บมจ.ไทยออยล์
รายงาน บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดยคาดว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 73-83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 77-87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (3 – 7 มิ.ย. 67)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากความไม่สงบในตะวันออกกลางมีความตึงเครียดมากขึ้น เมื่ออิสราเอลเดินหน้าโจมตีเมืองราฟาห์อย่างต่อเนื่อง ขณะที่การประชุมกลุ่มโอเปกพลัสมีมติขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิตไปถึงสิ้นไตรมาส 3/67 ท่ามกลางอุปสงค์การใช้น้ำมันที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และสัญญาณจากธนาคารกลางยุโรปในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. 67 อย่างไรก็ดี ราคายังได้รับแรงกดดันจาก FED ที่คาดการณ์ว่าคงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับเดิม และอุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังอิหร่านประกาศลงทุนขยายกำลังการผลิตน้ำมันดิบ

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

สถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางมีความตึงเครียดขึ้นมาอีกครั้ง หลังกองทัพอิสราเอลเดินหน้าโจมตีเมืองราฟาห์ต่อเนื่องตอบโต้กลุ่มฮามาสที่เปิดฉากโจมตีเทลอาวีฟครั้งแรกนับตั้งแต่ เดือนม.ค. ที่ผ่านมา แม้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีคำสั่งให้ยุติปฏิบัติการทางทหารในราฟาห์แล้วก็ตาม นอกจากนี้เหตุยิงปะทะกันระหว่างทหารอิสราเอลและอียิปต์ ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ของอียิปต์เสียชีวิต 1 นาย โดยความรุนแรงของเหตุการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งผลให้ตลาดความกังวลว่าสงครามจะมีการขยายตัวและจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบ

การประชุมโอเปกพลัสที่จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีมติขยายระยะเวลาการลดกำลังการผลิต 2.2 ล้านบาร์เรลไปจนสิ้นไตรมาส 3/67 อย่างไรก็ตาม ตลาดยังกังวลเรื่องอุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังนาย Mohammad Mokhber รักษาการประธานาธิบดีอิหร่าน ประกาศลงทุนขยายกำลังการผลิตน้ำมันดิบมูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยคาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิต 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 4 ล้านบาร์เรลต่อวันใน เดือน มี.ค. 68 นอกจากนี้ Reuters คาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบ ESPO ของรัสเซียจากท่าส่งออก Kozmino ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกปรับเพิ่มขึ้น 5% ในเดือน พ.ค. 67 จากเดือนก่อนหน้ามาแตะที่ระดับ 0.96 ล้านบาร์เรลต่อวันสูงสุดเป็นประวัติการณ์

อุปสงค์การใช้น้ำมันยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด สำนักสถิติแห่งชาติของจีน รายงานกำไรของบริษัทจดทะเบียนในภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 67 เพิ่มขึ้น 4% จากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 3.5% บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมในจีน รวมถึงอุปสงค์การใช้น้ำมันเครื่องบินในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังบริษัทวิเคราะห์เที่ยวบิน OAG เปิดเผยว่าจำนวนเที่ยวบินภายในประเทศ เดือน พ.ค. 67 ปรับเพิ่มขึ้น 6% เทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ Goldman Sachs ได้ปรับคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกระยะยาวปี 2573 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 108.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากก่อนหน้านี้ที่ 106 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะเติบโตสูงสุดที่ 110 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2577 โดยเหตุผลหลักมาจากความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามีสัญญาณการชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

ตลาดคาดธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. 67 หลังสมาชิกสภากรรมการธนาคารกลางยุโรป และประธานธนาคารกลางฟินแลนด์แสดงความเห็นว่า ECB มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเงินเฟ้อปรับลดต่อเนื่องสู่กรอบเป้าหมายที่ระดับ 2% โดยคาดว่าจะปรับลดลง 0.25% จากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่ระดับ 4.0% ในการประชุมวันที่ 6 มิ.ย. 67 ที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนใน เดือน เม.ย. 67 ปรับตัวลดมาอยู่ที่ระดับ 2.4% ต่ำกว่าระดับ 3.0% ในรอบ 7 เดือน โดยตลาดคาดการณ์ว่า ECB และ FED มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายที่ต่างกัน ภายหลัง FED ยังคงส่งสัญญาณตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิม เนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้ายังปรับสูงขึ้น อีกทั้งต้องการเห็นตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ตลาดคาดว่า FED จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน พ.ย. 67

ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 67 ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ และรายงานอัตราการว่างงาน ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน เดือน พ.ค. 67 ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ ตัวเลขการนำเข้าและส่งออกสินค้าของจีน และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป เดือน พ.ค. 67 ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ และจีดีพีไตรมาส 1/67

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 – 31 พ.ค. 67)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 76.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 0.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 81.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 83.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดกังวลเรื่องความไม่แน่นอนในการลดดอกเบี้ยสหรัฐฯ หลังตัวเลขเงินเฟ้อยังสูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% อาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) คงอัตราดอกเบี้ยต่อไป ซึ่งจะกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงความต้องการใช้น้ำมัน

อย่างไรก็ดี ตลาดคาดการณ์กลุ่มโอเปกพลัสมีแนวโน้มขยายกรอบเวลาในการลดกำลังการผลิตต่อเนื่อง ประกอบกับสหรัฐฯ เข้าสู่ฤดูการขับขี่รถยนต์หลังวันหยุด Memorial Day ด้านธนาคารกลางยุโรปพร้อมพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลังรายงานผลสำรวจความคาดหวังของผู้บริโภคในเดือน เม.ษ. 67 คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะ 1 ปีจากปัจจุบัน อยู่ที่ 2.9% ต่ำสุดตั้งแต่เดือนก.ย. 64 รวมถึงสถานการณ์ในตะวันออกกลางยังคงตึงเครียดมากขึ้น หลังอิสราเอลได้เคลื่อนรถถังเข้าสู่ใจกลางเมืองราฟาห์เป็นครั้งแรก ภายหลังได้การโจมตีทางอากาศที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password