สงกรานต์คึกคัก! ดัน SMESI เมษายน ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการ
สสว.คาดการณ์ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) ยังพุ่งได้ต่อเนื่องหลังจากกระแสเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาคึกคัก หนุน SMESI เมษายน 2567 พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการขยายตัวได้ดี แต่ภาคการผลิตกลับชะลอตัวลงจากวันหยุด ส่วนภาคธุรกิจการเกษตรชะลอตัวลงจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ
นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการรักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยดัชนี SMESI ประจำเดือนเมษายน 2567 อยู่ที่ระดับ 54.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.0 จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นช่วงมหาสงกรานต์ที่มีการจัดอีเว้นท์โดยภาครัฐและภาคเอกชนทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทย และต่างชาติจำนวนมากออกมาจับจ่ายใช้สอยแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ตาม ทำให้ธุรกิจภาคบริการโดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยวได้รับอานิสงส์มากที่สุด ส่วนภาคการผลิตชะลอตัวลงหลังจากที่เร่งผลิตไปช่วงก่อนเทศกาลและจากจำนวนวันหยุดในเดือนเมษายน
สำหรับภาคธุรกิจการเกษตรชะลอตัวจากปัญหาความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลต่อผลิตผลทางการเกษตร หากพิจารณาดัชนีองค์ประกอบจะพบว่า องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ องค์ประกอบด้านต้นทุนรวม (ต่อหน่วย) กำไร คำสั่งซื้อโดยรวม ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 40.8 58.9 และ 62.9 จากระดับ 40.7 54.8 และ 59.9 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนองค์ประกอบด้านการจ้างงาน ด้านการลงทุนโดยรวม ด้านปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 50.4 52.1 และ 59.2 จากระดับ 50.6 52.3 และ 59.9 ในเดือนก่อนหน้า
สำหรับภาพรวมระดับความเชื่อมั่น SMESI รายสาขาธุรกิจ พบว่า ภาคการบริการ อยู่ที่ระดับ 55.9 จากระดับ 52.8 ของเดือนก่อนหน้า ปรับตัวดีขึ้นชัดเจนหลังจากชะลอลงต่อเนื่อง 2 เดือน โดยปรับดีขึ้นในบริการภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นหลัก เช่นเดียวกับกลุ่มบริการอื่น ๆ ยกเว้นด้านการก่อสร้างที่ชะลอลงตามจำนวนวันหยุดที่แรงงานกลับภูมิลำเนา
ภาคการค้า อยู่ที่ระดับ 52.3 ปรับตัวดีขึ้น จากระดับ 51.9 ของเดือนก่อนหน้า โดยกลุ่มการค้าแบบดั้งเดิม การค้าส่ง และกลุ่มซ่อมบำรุงยานยนต์ปรับดีขึ้นชัดเจนจากการที่มีผู้ใช้บริการมากขึ้น จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่วนกลุ่มการค้าแบบ Modern trade ชะลอตัวจากปัจจัยชั่วคราว โดยเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากร้านค้าชั่วคราวที่เปิดในพื้นที่จัดงานเทศกาลสงกรานต์
ขณะที่ ภาคการผลิต ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 53.2 จากระดับ 54.2 ของเดือนก่อนหน้า ชะลอตัวลงจากการเร่งการผลิตไปก่อนหน้า และจากจำนวนวันหยุดกระทบต่อกำลังการผลิต ภาคธุรกิจการเกษตร อยู่ที่ระดับ 53.8 ปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 57.6 ของเดือนก่อนหน้า เนื่องจากสภาพอากาศที่มีความแปรปรวน รวมถึงอุณหภูมิที่ร้อนจัด ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิต และความกังวลของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจการเกษตรที่มีต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่จะออกสู่ตลาด โดยเฉพาะกลุ่มข้าวนาปี ผลไม้ และกลุ่มพืชผัก
ส่วนภาพรวมระดับความเชื่อมั่นฯ ของผู้ประกอบการ SME รายภูมิภาค พบว่า ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 54.9 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากระดับ 54.6 ภาพรวมเศรษฐกิจในพื้นที่ค่อนข้างทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า แม้ภาคการค้าและการบริการจะสามารถขยายตัว แต่ภาคการผลิตชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ส่งผลลบต่อภาพรวมของภูมิภาค ขณะที่ระดับความเชื่อมั่นของภูมิภาคอื่น ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดย
ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 56.6 จากระดับ 53.7 ของเดือนก่อนหน้า ซึ่งระดับความเชื่อมั่นปรับเพิ่มขึ้นสูงสุด เนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวตามปัจจัยด้านการท่องเที่ยวหลังจากชะลอลงต่อเนื่อง จากผลของ PM 2.5 ในช่วงก่อนหน้า ส่งผลดีกับธุรกิจภาคการค้า และภาคการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว กลุ่มสปา และกลุ่มบริการสันทนาการ รวมถึงภาคธุรกิจการเกษตรในภูมิภาคที่ยังมียอดขายดีขึ้น
รองลงมาคือภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 53.0 จากระดับ 51.3 ของเดือนก่อนหน้า กิจกรรมการเดินทางที่มากขึ้นในช่วงวันหยุดยาว กำลังซื้อในพื้นที่ขยายตัว ส่งผลดีกับภาคการค้า โดยเฉพาะบริเวณทางผ่านระหว่างจังหวัด มียอดขายเพิ่มขึ้นในกลุ่มของฝากและกลุ่มร้านอาหาร ในขณะที่ภาคธุรกิจการเกษตรเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก และปริมาณการผลิต
ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 54.2 จากระดับ 53.3 ของเดือนก่อนหน้า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะมาเลเซียเพิ่มสูงขึ้นกว่าก่อน COVID-19 ชัดเจน ซึ่งเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญของภาคใต้ รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นกำลังซื้อโดยเฉพาะกับธุรกิจในภาคการบริการเกือบทุกสาขาปรับตัวดีขึ้น กรุงเทพฯและปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 53.5 จากระดับ 52.7 ของเดือนก่อนหน้า เศรษฐกิจในพื้นที่ขยายตัวจากภาคการค้าและการบริการ รวมถึงการผลิตบางสาขา เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์จากยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเครื่องประดับ
ทั้งนี้ผลของการส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงเดือนเมษายนของภาครัฐเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญโดยเฉพาะการจัดอีเว้นท์ใหญ่มหาสงกรานต์ของภาครัฐ อย่างไรก็ตามกลุ่มการค้า Modern trade ในพื้นที่ก็เผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากร้านค้าใหม่ชั่วคราวเช่นกัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 53.0 จากระดับ 52.5 ของเดือนก่อนหน้า เป็นผลมาจากภาคการบริการและภาคการค้าที่ปรับตัวดีขึ้น จากกลุ่มแรงงานที่กลับภูมิลำเนาในช่วงสงกรานต์ แต่บางจังหวัดการท่องเที่ยวอาจไม่คึกคักเท่าที่ควรเพราะขาดอีเว้นท์สนับสนุนเพิ่มเติม ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคธุรกิจการเกษตร มีความกังวลด้านปริมาณผลผลิตชัดเจน และผู้ประกอบการเริ่มปรับราคาขายสินค้าเพิ่มขึ้นตามการขาดแคลนของผลผลิต
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 53.9 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 53.2 จากการคาดกาณ์ของเดือนที่ผ่านมา ในเกือบทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะด้านกำลังซื้อและกำไร จากภาคการผลิตที่มีแนวโน้มขยายกำลังการผลิตเนื่องจากปริมาณสินค้าคงคลังที่ผลิตเอาไว้ล่วงหน้าเริ่มมีปริมาณลดลง ขณะที่ภาคการค้าและภาคการบริการกลับมีแนวโน้มทรงตัว และภาคธุรกิจการเกษตรชะลอลงต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนความกังวลที่มีต่อปริมาณผลผลิตในช่วงเวลาถัดไป
นอกจากนี้ สสว. ได้ทำการสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการ SME พบว่า มาตรการด้านต้นทุนยังคงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด โดยเฉพาะด้านภาระค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น ด้านการกระตุ้นการใช้จ่าย โดยธุรกิจรายย่อยยังต้องการมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ส่วนกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ต้องการให้ส่งเสริมการสร้างรายได้ และอาชีพเพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจ และสร้างกำลังซื้อที่ยั่งยืน ธุรกิจรายย่อยและขนาดย่อมต้องการองค์ความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจมากที่สุด โดยเฉพาะการบริหารจัดการด้านต้นทุนและราคาขาย ขณะที่ธุรกิจขนาดกลาง ต้องการการสนับสนุนให้เปิดตลาดต่างประเทศ และการส่งออกเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในธุรกิจ.