คลังผุด Easy E-Receipt หนุนเศรษฐกิจ 7 หมื่นล. เริ่มใช้จริงปีใหม่นี้

กระทรวงการคลังหวังใช้ มาตรการ Easy E-Receipt รวม 45 วัน นับแต่วันแรกของปี 2567 กระตุ้นเศรษฐกิจช่วงที่งบปี 2567 ยังไม่ออกมาใช้ได้จริง ด้าน “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” โว! จะเพิ่มเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท ดันจีพีดีโต 0.18% มั่นใจจะดึงร้านค้าร่วมโครงการฯเพิ่มเป็น 1หมื่นราย ส่งต่อการวางระบบภาษีที่ยั่งยืน

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง มาตรการ Easy E-Receipt ว่า เป็นมาตรการทางภาษีที่รัฐบาลจะสนับสนุนให้ประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วมออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice) ได้รับการลดหย่อนภาษีจากใช้บริการหรือซื้อสินค้าจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยจะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันที่  1 ม.ค. – 15 ก.พ.2567 คิดเป็นระยะเวลารวม 45 วัน โดยในหลักการถือเป็นการกระตุ้นการบริโภคให้เกิดการซื้อสินค้าและบริการในช่วงต้นปี เนื่องจากความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 กระทั่ง กลายเป็นช่องโหว่ในช่วงรอยต่อไตรมาสที่ 1-2 ดังนั้น การนำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงต้นปีหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยกำหนดการซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนมูลค่าเพิ่มหรือจากผู้ประกอบการทั่วไป ในวงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท และสามารถนำไปหักภาษีในช่วงสิ้นปีได้

คาดจะมาตรการ Easy E-Receipt จะเพิ่มเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจราว 7 หมื่นล้านบาท และช่วยให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยับเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 0.18% เมื่อเทียบกับการไม่มีมาตรการ ทั้งนี้ นอกจากจะสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบฐานภาษี ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บภาษีในระยะยาว โดยปัจจุบันพบว่า มีผู้ประกอบการคงค้างที่เคยเข้าร่วมโครงการ e-Refund/ช้อปดีมีคืน อยู่ในระบบมากกว่า 4,000 ราย ผ่านช่องทางซื้อ 1.16 แสนแห่งทั่วประเทศ ซึ่งหากมาตรการ Easy E-Receipt ได้ดำเนินการแล้ว เชื่อว่าจะเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการอีกกว่าเท่าตัว หรือราว 10,000 ราย โดยขณะนี้ กรมสรรพากรได้เร่งดำเนินการประสานงานกับผู้ประกอบการเพื่อดึงเข้าสู่โครงการดังกล่าว สำหรับสินค้าที่ไม่อยู่ในข่ายจะเข้าร่วมโครงการฯและได้รับการลดหย่อนภาษี ได้แก่ สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ น้ำมัน แก๊ส ค่าสาธารณูปโภค อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password