“อาคม” เปิดอนาคตประเทศไทย “สินทรัพย์ดิจิทัล” สร้างโอกาสการลงทุน


รมว.คลังเผยเปิดอนาคตประเทศไทย ชี้โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่เชื่อมโยงดิจิทัล รัฐให้ความสำคัญการเติบโตสินทรัพย์ดิจิทัล “ก.ล.ต.-ธปท.” ดูแลใกล้ชิด สร้างโอกาสทางเลือกการลงทุน-สตาร์ตอัพ

วันที่ 24 มี.ค. 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ “อนาคตประเทศไทยกับสินทรัพย์ดิจิทัล” ในงานสัมมนาสินทรัพย์ดิจิทัล Game Changer เดิมพันเปลี่ยนอนาคต จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าภาครัฐพร้อมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จะเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ โดยที่ผ่านมามีคนกล่าวว่าการที่ประเทศไทยเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเก่า

ขณะที่เศรษฐกิจปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่เพิ่มเข้ามา ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังมองว่าเป็นปัญหาชั่วคราว ซึ่งรัฐบาลก็ได้ออก 10 มาตรการ เพื่อลดต้นทุนราคาพลังงาน บรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ตรงตามเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจแบบเก่ายังพึ่งพาการบริโภค โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเป็นหลัก เมื่อสถานการณ์โควิดเข้ามาจึงได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ฉะนั้น โครงสร้างแบบใหม่ การท่องเที่ยวจะต้องพิจารณาการสร้างมูลค่าที่แตกต่างจากเดิม โดยเป็นการเน้นการท่องเที่ยวคุณภาพ แทนการเน้นปริมาณ

ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่จะเชื่อมโยงโลกดิจิทัล ซึ่งจะเห็นได้ว่าจากที่โควิดเข้ามามีการลงทุนมนสินทรัพย์ดิจิทัลก็เติบโตขึ้น โดยปี 2563 จากศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่จดทะเบียนประกอบกิจการเพียง 9 ราย ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 14 ราย ขณะที่มูลค่าการซื้อขาย จาก 240 ล้านบาท ในปี 2563-2564 มีการซื้อขายเติบโตกว่า 4,839 ล้านบาท ส่วนมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น จาก 9,600 ล้านบาท เป็น 114,000 ล้านบาท และมีผู้ใช้งานจาก 1.7 แสนราย เติบโตเป็น 2 ล้านราย

“นอกจากการลงทุนจากตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) ยังมีตลาดใหม่ ทั้งคริปโตเคอร์เรนซีที่มีการซื้อขายผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และโทเคน ซึ่งมีภาคธุรกิจหลายรายเริ่มใช้เป็นการลงทุนในโทเคน เพื่อเป็นทางเลือกในการระดมทุน แต่พัฒนาที่สำคัญส่วนนี้คือเรื่องบล็อกเชนเทคโนโลยี ซึ่งจะไม่ผ่านศูนย์กลาง สามารถระดมทุนโดยตรงไปที่ประชาชนได้ทันที ส่วน Utility token ในแง่การกำกับของภาครัฐคงต้องใช้เวลาสักนิดหนึ่ง แต่ในเรื่องของทั้ง 2 เรื่องนั้น เป็นเรื่องที่เราไม่ปฏิเสธ เพราะทางภาครัฐก็ให้ความสำคัญต่อการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัล” นายอาคม กล่าว และย้ำว่า

ส่วนการกำกับดูแลนั้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ใช้แนวทางในการกำกับดูแลผ่าน พ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิทัล ปี 2561 ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลในด้านภาคการเงิน โดยทั้ง 2 หน่วยงานก็ดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการสิ่งที่จะมาทดแทนค่าตอบแทนนั้น ปัจจุบันทั่วโลกก็ยังไม่ยอมรับสกุลเงินดิจิทัล อย่างไรก็ดี ธปท.ก็ได้มีการพัฒนา Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง โดยทั่วโลกก็ทำในเรื่องดังกล่าว

“รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัล แต่การเติบโตก็ต้องระวัง ทั้งนี้ หากถามว่าโอกาส หรือประโยชน์ของสินทรัพย์ดิจิทัลมีอะไรบ้างนั้น แน่นอนว่าโอกาสจากทางเลือกของการลงทุนมีแน่นอน และยังมีสตาร์ตอัพ ในกลุ่มเทคโนโลยีด้วย”

นายอาคมกล่าวด้วยว่า การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล กระทรวงมีนโยบายต้องยึดประโยชน์ผู้ลงทุน ต้องคุ้มครองไม่ให้เกิดความเสียหาย ธปท.ก็ดูแลร่วมกัน และ ก.ล.ต. ก็อยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิทัล ให้กำกับดูแลครอบคุมมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการดูแลระบบเศรษฐกิจ คุ้มครองผู้ลงทุน ซึ่งฝากถึงผู้ประกอบการในคริปโตเคอร์เรนซี และโทเคน ว่าการให้ข้อมูลลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ ความเสถียรทางระบบที่จะรองรับ หรือระบบซื้อขาย โดยเฉพาะโทเคน ฐานะการเงินต้องมีความมั่นคง.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password