จับตา สถานการณ์ “เงินเฟ้อ” ของไทย ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน
สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย หรือ “เงินเฟ้อ” มีค่า 107.45 โดยลดลง จากปีก่อน 107.92 โดยลดลงต่ำสุดในรอบ33 เดือน และต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน
วันที่ 7 ธ.ค. 2566 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (เงินเฟ้อ) เดือนพฤศจิกายน 2566 เท่ากับ 107.45 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งเท่ากับ 107.92 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 0.44 (YoY) ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 33 เดือน สาเหตุสำคัญยังคงเป็นมาตรการภาครัฐด้านพลังงาน ที่ทำให้สินค้าในกลุ่มพลังงานปรับลดลง โดยเฉพาะราคาน้ำมันในกลุ่มดีเซล และแก๊สโซฮอล์ 91 นอกจากนี้ เนื้อสุกร ไก่สด และน้ำมันพืช ราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมา สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 0.58 (YoY)
อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนตุลาคม 2566 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลงร้อยละ 0.31 ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 8 จาก 135 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย) โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับในหลายประเทศทั่วโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนนี้ที่ลดลงร้อยละ 0.44 (YoY) มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.87 (YoY) สาเหตุหลักยังคงเป็นสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ราคาลดลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากมาตรการภาครัฐ ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันดีเซล และแก๊สโซฮอล์ 91 รวมถึงค่าโดยสารรถไฟฟ้า
นอกจากนี้ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า และเครื่องปรับอากาศ ราคาลดลงต่อเนื่อง สำหรับสินค้าที่ราคาสูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2565 อาทิ แก๊สโซฮอล์ 95 E85 และ E20 น้ำมันเบนซิน 95 ก๊าซยานพาหนะ (LPG) ค่าโดยสารเครื่องบิน ค่ารถรับส่งนักเรียน เครื่องแบบนักเรียน แป้งทาผิวกาย ยาสีฟัน อาหารสัตว์เลี้ยง สุรา และเบียร์
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.20 (YoY) ตามราคาสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวสาร แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง (แป้งข้าวเจ้า ขนมอบ) ไข่ (ไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่เค็ม) รวมทั้ง นมข้นหวาน นมเปรี้ยว และนมถั่วเหลือง และผลไม้สด (ทุเรียน แตงโม ส้มเขียวหวาน) รวมถึงกาแฟผงสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป และอาหารเช้า ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย ขณะที่สินค้าในกลุ่มอาหารสด ราคาลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเฉพาะเนื้อสุกร และไก่สด เนื่องจากสต็อกคงเหลือมีปริมาณมาก นอกจากนี้ น้ำมันพืช เครื่องปรุงรส และมะขามเปียก รวมถึงผักและผลไม้บางประเภท อาทิ ต้นหอม แตงกวา ถั่วฝักยาว ลองกอง ชมพู่ มะม่วง ราคาปรับลดลง
ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน 2566 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 ลดลงร้อยละ 0.25 (MoM) โดยหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.58 ตามการลดลงของค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท ค่าโดยสารรถไฟฟ้า รวมทั้ง น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว และโฟมล้างหน้า สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ค่าโดยสารเครื่องบินและรถจักรยานยนต์รับจ้าง เครื่องถวายพระ อาหารสัตว์เลี้ยง บุหรี่ และสุรา ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.23 สินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวสาร ขนมอบ ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ (ปลาทู ปลาหมึก หอยลาย กุ้งนาง
สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค. – พ.ย.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ 1.41 (AoA) ซึ่งอยู่ในกรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2566 (ร้อยละ 1.0 – 3.0) โดยแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2566 โดยมีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง อาทิ มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐที่คาดว่าจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มการปรับขึ้นราคาสินค้าสำคัญค่อนข้างจำกัด เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง อาจเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคของประชาชนบางกลุ่ม
ด้วยเหตุผลตามข้างต้น กระทรวงพาณิชย์ จึงคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 จะอยู่ระหว่างร้อยละ (-0.3) – 1.7 (ค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 0.7) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง.