ธุรกิจโลจิสติกส์แรง พบเดือน‘ม.ค.’เปิดกิจการใหม่พุ่ง39%

สนค. เผยสถานการณ์ธุรกิจโลจิสติกส์ไทย เดือนม.ค. 65 มีทิศทางการขยายตัวดี การเปิดกิจการใหม่ร้อยละ 39.6 เป็นธุรกิจด้านการบริหารจัดการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า พร้อมแนะผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) เปิดเผยว่า ข้อมูล เดือนม.ค. 2565 มีธุรกิจโลจิสติกส์ที่จดทะเบียนเปิดกิจการใหม่กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำนวน 444 รายเติบโตร้อยละ 39.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนการเปิดกิจการมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ (1) การขนส่งและขนถ่ายสินค้า จำนวน 244 ราย (2) การขนส่งสินค้าทางถนน 68 ราย และ (3) กิจกรรมตัวแทน รับจัดส่งสินค้า 33 ราย โดยมีการเติบโตร้อยละ 26.4 83.8 และ 32.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

สำหรับในปี 2565 ธุรกิจบริการโลจิสติกส์จะมีส่วนที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะการขยายการค้ากับกลุ่มประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP และการขยายตัวของธุรกิจโลจิสติกส์เพื่อเตรียมพร้อมรองรับรถไฟจีน-ลาว สำหรับภาครัฐจะต้องร่วมมือกันเร่งสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมกลยุทธ์การใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการวางแผนการขนส่งทั้งในและระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า มีการติดตามสถานการณ์โลจิสติกส์อย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาด้านธุรกิจบริการโลจิสติกส์ และเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป

สำหรับความตกลง RCEP มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 นั้น เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันและหนุนการส่งออกไทยให้ขยายตัวมากขึ้น โดยผู้ประกอบการด้านพิธีการทางศุลกากรและผู้ส่งออก ควรเร่งศึกษาสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ อาทิ การลดอากรขาเข้าเพิ่มเติมจากความตกลง FTA อื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น จีน ลดอากรยานยนต์ ภายใต้พิกัดศุลกากร 8703 สำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่ รถพยาบาล รถบรรทุกมินิบัส ซึ่งเป็น 1 ใน 10 สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปจีน เหลือร้อยละ 15(ขณะที่ FTA อาเซียน-จีน มีอัตราอากรร้อยละ 25) ญี่ปุ่น ลดอากรเนื้อสัตว์ และส่วนอื่นของสัตว์ เช่น ตับสัตว์ ภายใต้พิกัดศุลกากร 1602 (พิกัดศุลกากร 1602 เป็นสินค้าสำคัญอันดับแรกที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น) ระหว่างปี 2565-2567 เหลือร้อยละ 5.625 5.25 และ 4.875 ตามลำดับ (ขณะที่ FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น มีอัตราอากรร้อยละ 6)

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password