“แบงก์ชาติ” ยอมรับภาค “การคลัง” ของไทยอ่อนแอลง ชี้ศก.ไทยต้องมีกันชนรับความเสี่ยง

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ชี้ เศรษฐกิจไทยต้องแข็งแรง ยืดหยุ่น มีกันชนพร้อมรับความเสี่ยง-ช็อกใหม่ รับห่วงหนี้ครัวเรือน-หนี้สาธารณะ ปักธงวางนโยบายเพิ่มเสถียรภาพ

วันที่ 3 พ.ย. 2566 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “Towards a more resilient future ปรับโหมดนโยบายเศรษฐกิจการเงินสู่ความยั่งยืน” ในงานสัมมนา THAILAND NEXT MOVE 2024 The Next Wealth and Sustainability เปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ความมั่งคั่งยั่งยืน ว่า เศรษฐกิจไทยจะมั่งคั่งและยั่งยืนได้ ต้องมี resilience ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่เสถียรภาพ (stability) แต่ยังหมายถึงความทนทาน ยืดหยุ่น ล้มแล้วลุกได้เร็ว ถือเป็นเรื่องจำเป็น เพราะโลกตอนนี้เปลี่ยนไปชัดเจน ความเสี่ยงต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ไม่ใช่แค่ความเสี่ยงที่เราคุ้นเคย เช่น ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ความเสี่ยงใหม่ที่ไม่คุ้นชิน ทำให้คาดการณ์ลำบากว่าผลสุดท้ายและผลข้างเคียงของความเสี่ยงดังกล่าวจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ ความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่สูงขึ้นในปัจจุบัน มองว่าเป็นเรื่องสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ความไม่สงบในฉนวนกาซ่า ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์ซึ่งคาดไม่ถึง และจากเหตุการณ์นี้ก็จะมีผลข้างเคียงตามมาค่อนข้างสูงด้วยเช่นกัน โดยตอนนี้อยู่ในโหมดของโลกที่ชะล่าใจไม่ได้ สำหรับประเทศไทยตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวสะท้อนว่าเสถียรภาพเราค่อนข้างโอเค โดยเฉพาะมิติด้านต่างประเทศ อาทิ ทุนสำรองระหว่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัด หนี้ต่างประเทศ งบดุลบริษัทขนาดใหญ่และธนาคารพาณิชย์อยู่ในเกณฑ์ดี เป็นต้น โอกาสที่จะเกิดวิกฤติต่ำ แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ หนี้ครัวเรือน ตอนนี้อยู่ที่ระดับ 91% ต่อจีดีพี แม้ว่าจะลดลงมาจากช่วงพีคที่ 94% ต่อจีดีพี แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงมาก ๆ เป็นมิติที่ยังมีปัญหา ต้องจับตาและใส่ใจ

สำหรับมิติในฝั่งการคลังปัจจุบันเทียบกับอดีตถือว่าอ่อนแอลง โดยตอนนี้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 62% ต่อจีดีพี แม้ว่าหลายประเทศจะสูงกว่าไทย แต่ถ้าเทียบกับอดีต ต้องยอมรับว่าเพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากช่วงโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ราว 40% ต่อจีดีพี แต่ถ้าเทียบกับอดีตกาลเลย ตัวเลข 62% ต่อจีดีพี ถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุด ขนาดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หนี้สาธารณะยังอยู่ที่ 60% ต่อจีดีพี แต่ถ้าถามว่าอยู่ในขึ้นที่มีโอกาสเกิดปัญหาหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่ได้อยู่ในระดับที่จะเกิดปัญหา” แต่ก็เป็นตัวเลขที่ต้องใส่ใจ จะชะล่าใจไม่ได้

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า นอกจากการดำเนินนโยบายไม่ให้เกิดปัญหาเสถียรภาพแล้ว อีกปัจจัยที่สำคัญคือ ภูมิคุ้มกัน หรือกันชนที่ดีที่จะรองรับช็อกที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะภาวะช็อกรูปแบบแปลกและใหม่ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ไม่คุ้นชิน หากมีกันชนที่ดี เราจะได้รู้ว่าควรบริหารจัดการอย่างไร โดยภูมิคุ้มกันที่ดี คือ การมีขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ภาครัฐต้องมีกระสุนเพียงพอ ทั้งกระสุนฝั่งนโยบายการเงิน หากเกิดเหตุการณ์จำเป็น ธนาคารกลางต้องมีความสามารถเพียงพอในการลดดอกเบี้ย หรือฝั่งนโยบายการคลังที่ควรเก็บกระสุนไว้รองรับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงที่อาจเกิดขึ้น และต้องมีทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อรองรับและช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีทางเลือกในการรองรับช็อกที่คาดไม่ถึง

“เราอยากเป็นเศรษฐกิจที่มี resilience ก็ต้องมีการเติบโต มีโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ด้วยบริบทสภาพเศรษฐกิจไทย ทุกอย่างนิ่ง การเติบโตไม่เพียงพอ จึงไม่ได้สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้คน ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ความมั่งคั่งที่ยั่งยืนได้ ถามว่าทำไม การที่จะมีโอกาสใหม่จะช่วยให้ไม่ว่าครัวเรือน หรือธุรกิจมีความหวัง มีโอกาสที่จะเห็นแนวทางเดินต่อไปได้ การสร้างโอกาสที่สำคัญ ๆ คือ โอกาสใหม่ ๆ เป็นอะไรใหม่ ๆ ถามว่าทำไม เพราะหากโตไปแบบเดิม ๆ ยิ่งวันก็ยิ่งลำบาก” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า เรื่องความยั่งยืนถือเป็นอีกหนึ่งกันชนที่สำคัญ หากเราไม่ปรับตัวในเรื่องนี้และยังเติบโตด้วยเครื่องยนต์แบบเดิมจะลำบาก ที่ผ่านมาเราไม่ได้ใส่ใจเรื่องการเติบโตเท่าที่ควร รายได้จากการเติบโตของเศรษฐกิจส่วนใหญ่จึงกระจุกตัวที่กำไรของบริษัท จึงเป็นประเด็นว่าหากเศรษฐกิจไทยไม่สามารถเติบโตในรูปแบบใหม่ได้ โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตอย่างมีเสถียรภาพ และทนทานจริง ๆ บนฐานที่กว้างจะเป็นไปได้ลำบาก

ทั้งนี้ หน้าที่ของ ธปท. เพื่อช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโต คือ ต้องดูเรื่องนโยบายให้เหมาะสม ผสมผสานนโยบายการเงินในรูปแบบที่เอื้อให้เศรษฐกิจโตได้อย่างมีเสถียรภาพ โจทย์ที่สำคัญตอนนี้คือทำให้นโยบายต่าง ๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ จึงนำไปสู่การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป เหมาะสม เพื่อให้เศรษฐกิจโตได้ในระดับเหมาะสม เงินเฟ้อกลับเข้ากรอบ ไม่สร้างความไม่สมดุลด้านการเงินมากเกินไป

“ตอนนี้ต้องกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เกณฑ์ต่าง ๆ ที่ผ่อนปรนมากเกินไป ที่เคยเอื้อให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ช่วงโควิด-19 ต้องเก็บของพวกนี้ ในยามที่สภาวะเปลี่ยนแปลง โลกเจอความเสี่ยงใหม่ ๆ และคาดการณ์ไม่ถึง เรื่องพวกนั้นเป็นอะไรที่ไม่เหมาะสม เทียบเคียงเหมือนกับฝนตก ถนนมืด แต่เราเหยียบคันเร่งเต็มที่คงไม่เหมาะ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password