“ภูมิธรรม” ลั่นประกาศลดราคาสินค้าพร้อมกันทั้งประเทศ ภายใน 15 วัน
“ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ แถลงนโยบายเร่งด่วน ประกาศลดราคาสินค้าพร้อมกันทั้งประเทศ ภายใน 15 วัน พร้อมเดินหน้าดูแลต้นทุน เพิ่มช่องทางตลาดให้เกษตรกร
วันที่ 14 ก.ย. 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงนโยบายและทิศทางการทำงานสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ ภายหลังร่วมประชุมหารือกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ทั่วโลก ว่า ได้เข้าทำงานอย่างเป็นทางการเป็นวันแรก หลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และได้แจ้งกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ว่ารัฐบาลมีนโยบายหลักให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และกำหนดให้เป็นเป้าสำคัญในการทำงานของทุกกระทรวง รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ จึงได้มอบนโยบายการทำงานเน้นให้เกิดประโยชน์กับประชาชน โดยยึดหลักการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนงาน ทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ประกอบการ
โดยเรื่องเร่งด่วนที่จะดำเนินการ จะเร่งดูแลและลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน เพราะคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการลดภาระต้นทุน ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ลงมาแล้ว ซึ่งมีผลให้ต้นทุนสินค้าลดลง ถือเป็นต้นทางนำไปสู่การพูดคุยกับผู้ประกอบการ ซึ่งได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในไปหารือ และทำความเข้าใจในสิ่งที่ประชาชนต้องการแล้ว มีระยะเวลา 15 วัน ที่จะมาแจ้งว่าอะไรได้ อะไรไม่ได้ มีสินค้าอะไรบ้าง โดยตั้งเป้าต้องทำให้ได้
สำหรับการดูแลสินค้าเกษตร จะบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยสร้างหลักประกันว่าผลผลิตจะต้องขายได้ในราคาที่เหมาะสม มีการจัดช่องทางการจำหน่ายและกระจายผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการลดต้นทุน เช่น ปุ๋ยเคมี ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าเครื่องจักร และผลักดันให้มีการแปรรูป ใช้นวัตกรรม และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต ส่วนประชาชน
ทั้งนี้ ในเรื่องเงินดิจิทัล วอลเล็ต ที่รัฐบาลมีเป้าหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ได้มอบหมายให้หน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์นำไปคิดว่าจะเชื่อมโยงกับนโยบายได้อย่างไร เพราะมีข้อท้วงติงจากประชาชนว่ารัศมี 4 กิโลเมตร อาจจะไม่เข้าถึงในบางพื้นที่ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์สามารถเข้าไปช่วยได้ เช่น เชื่อมโยงฐานข้อมูลช่องทางการตลาดที่กระทรวงพาณิชย์ส่งเสริม เช่น ร้านค้าธงฟ้า ร้านอาหารธงฟ้า ตลาดต้องชม Farm Outlet หมู่บ้านทำมาค้าขาย เพื่อให้การใช้งานของประชาชนสะดวกมากยิ่งขึ้น และให้เตรียมอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสินค้าของประชาชนซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่มีเงื่อนไขข้อจำกัดในการใช้งาน เช่น จัดรถพุ่มพวงเข้าไปจำหน่ายสินค้า เป็นต้น
นายภูมิธรรมกล่าวว่า เรื่องการส่งออก ขอให้เร่งขยายและผลักดันการส่งออกให้เปลี่ยนจากตัวเลขติดลบเป็นบวก โดยมีนโยบายอย่างน้อยที่สุดให้รักษาเป้าการส่งออกที่ตั้งไว้ 1-2% ให้ได้ และมีนโยบายให้สร้างกระแส โดยใช้ประโยชน์จาก Soft Power ของไทย และสร้างเรื่องราวให้กับสินค้าและบริการไทยเชื่อมโยงกับภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร วัฒนธรรม ภาพยนตร์ แอนิเมชั่น และการท่องเที่ยว และได้ขอให้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกพฤติกรรมผู้บริโภคของตลาดทั่วโลกในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองความต้องการและการทำกลยุทธ์ส่งเสริม รวมทั้งแก้ไขปัญหา อุปสรรคการค้าชายแดน การแก้ไขปัญหาคอขวดที่เป็นอุปสรรคต่อสินค้าไทย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยคัดสินค้าที่มีปัญหาไม่ซับซ้อนทำเป็นตัวอย่างนำร่อง และยกระดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยให้เป็นผู้ให้บริการระดับภูมิภาค
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ วางแผนยุทธศาสตร์หรือแผนบริหารจัดการสินค้าอย่างครบวงจรร่วมกัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อ “รักษาตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่” และเพิ่มบทบาท “พาณิชย์คู่คิด SME” ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถส่งออกได้ เช่น การให้คำปรึกษา ในด้านกฎระเบียบการนำเข้าของตลาดต่างประเทศเชิงลึก เช่น การจัดตั้งบริษัท การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในตลาดเป้าหมายและสร้างเครือข่ายพันธมิตร การจัดทำคู่มือภาษาไทยที่เข้าใจง่าย รวมไปถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีข้อมูลทั้งในด้านสินค้าศักยภาพของไทยและความต้องการสินค้าจากต่างประเทศที่ครบวงจรและเป็นปัจจุบัน
ส่วนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ผลักดันให้มีการเจรจา FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจาให้สำเร็จโดยเร็ว และเริ่มเจรจา FTA ฉบับใหม่ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้กับไทย และผลักดันการใช้ประโยชน์จาก FTA และช่วยในการปรับตัว โดยสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายเล็ก และเตรียมความพร้อมให้ดำเนินธุรกิจสอดรับกับกฎกติกาใหม่ ๆ ของโลก เช่น Carbon Credit / BCG / SDGs
ขณะเดียวกัน ให้หน่วยงานต่าง ๆ พิจารณาแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายเก่าที่ล้าสมัย เป็นอุปสรรคทางการค้า เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ โดยสร้าง และบัญญัติกฎหมายใหม่ ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก เช่น ด้านการผลิตการค้าในรูปแบบใหม่ ๆ โดยเฉพาะกฎหมายเพื่อให้เท่าทันกับการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งการพัฒนาของเทคโนโลยี AI
“รวม ๆ แล้ว มีนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการรวม 7 เรื่อง หลายเรื่องเป็นเรื่องเร่งเด่วน ที่จะต้องทำให้ได้ภายใน 100 วันแรกตามนโยบายรัฐบาล แต่บางเรื่องถ้าทำได้เร็ว ก็จะทำทันที ส่วนการวัดผลความสำเร็จ หรือ KPI คือ ความพึ่งพอใจของพี่น้องประชาชน”นายภูมิธรรม กล่าว.