คลังโลกสวย ชี้!ปมการเมืองกระทบเศรษฐกิจไทยไม่มาก ปรับลดจีดีพีลงแค่ 0.1%
โฆษกคลัง นำทีม สศค.แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายปี 2566 ปรับลดจีดีพี 0.1% เหลือทั้งปีโต 3.5% ชี้! ประเด็นการเมือง ปม “ตั้งรัฐบาลล่าช้า” ส่งผลกระทบไม่มาก แถมไม่กระทบความเชื่อมั่นโครงการจีทูจีกับรัฐบาลของชาติพันธมิตร ส่วนนักลงทุนต่างชาติขึ้นกับเงื่อนไขข้อตกลงระหว่างกัน เผย! หากรัฐบาลมาล่าเกิน 6 ด. คลังพร้อมผนึกสภาพัฒน์และสำนักงบประมาณหาทางออก ระบุ! มีตัวเลขการลงทุนปีนี้ช่วง 9 เดือนแรก เบิกจ่ายไปแล้ว 1.3 แสนล้านจากยอดเต็ม 1.5 แสนล้าน ย้ำ! งบลงทุนปี 2567 ไม่ต่างกัน ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนมิถุนายน ยังได้รับปัจจัยหนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลง คาดดุลบริการที่เพิ่มขึ้นจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติโตเฉียด 30 ล้านคน อาจหนุนให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุล 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะ โฆษกกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง และ นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผอ.สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. แถลงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ท่ามกลางความผันผวนของปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะประเด็นความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของไทย ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.5% (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.0 ถึง 4.0%) ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับลดจากประมาณครั้งก่อนที่ระดับ 3.6% ทั้งนี้ ได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียที่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งคาดว่าทั้งปี 2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 29.5 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 164.2 ต่อปี และมีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 1.25 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 243.8 จากปี 2565 และการบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.5 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 ถึง 5.0) ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้และแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่คลี่คลายลง
สำหรับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1 ถึง 3.1) จากความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มกลับมาดีขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มสหภาพยุโรปยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย จึงคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจะหดตัวที่ร้อยละ -0.8 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.3 ถึง -0.3) นอกจากนี้ การบริโภคภาครัฐคาดว่าหดตัวที่ร้อยละ -2.1 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -2.6 ถึง -1.6) ในขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.7 ถึง 2.7) โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา
ในด้าน เสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 1.7 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ1.2 ถึง 2.2) เนื่องจากแรงกดดันจากราคาสินค้าในหมวดพลังงานได้คลี่คลายลงตามลำดับ ประกอบกับมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน สำหรับ เสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะกลับมาเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของ GDP
ส่วนปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ 1) ความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศหลัก ๆ เช่น จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย และรัสเซีย 2) สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ส่งผลต่อทิศทางเงินเฟ้อในประเทศ 3) สถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจจีน และ 4) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและการค้าระหว่างประเทศ
“เหตุที่กระทรวงการคลังปรับลดประมาณการตัวเลขจีดีพีลง 0.1% เหลือ 3.5% เป็นเพราะสมมุติฐานรายได้ต่อหัวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง เนื่องจากเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนอาเซียน ซึ่งเราคาดหวังว่าในครึ่งปีหลัง จะมีนักท่องเที่ยวจีนมาตามนัด เนื่องจากทราบมาว่ามีสายการบินบางแห่งได้เตรียมการเพิ่มเส้นทางการบินอีกหลายเมือง รวมถึงเพิ่มเที่ยวบินอีกจำนวนมากจากเดิมสัปดาห์ละ 17 เที่ยวเป็น 35 เที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวจีนกลับมา เชื่อว่าจะช่วยเสริมอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น” โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุและย้ำว่า
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ทำให้คาดการณ์จีดีพีลดลง คือ การส่งออกที่มีแนวโม้มชะลอตัวลง ขณะที่ตัวเลขการนำเข้ากลับเพิ่มขึ้น ประกอบกับการคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1 ของสภาพัฒน์ที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งหมดจึงมีผลต่อการปรับลดจีดีพีของกระทรวงการคลังลงอีก 0.1% อย่างไรก็ตาม จีดีพี ณ สิ้นปีอาจขยับขึ้นได้อีก เนื่องจากยังอยู่ในช่วงคาดการณ์ที่ 3.0 ถึง 4.0% ที่วางไว้
สำหรับ ประเด็นการเมือง โดยเฉพาะ ปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า นั้น ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังได้หารือร่วมกับสภาพัฒน์และสำนักงบประมาณ ได้ข้อสรุปถึงการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการงบประมาณปี 2567 ที่อาจล่าช้านานถึง 6 เดือน ทั้งในส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำและงบลงทุน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงบลงทุนใหม่ๆ โดย สำนักงบประมาณจะออกหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายมาให้หน่วยงานราชการได้นำไปปฏิบัติเพื่อการเบิกจ่ายต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ ส่วนกรณีที่ หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าเกิน 6 เดือน ก็มีตัวอย่างการเบิกจ่ายงบลงทุนของปี 2566 ซึ่งผ่านมา 9 เดือน เบิกจ่ายไปแล้วราว 1.3 แสนล้านบาทจากทั้งหมด 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งงบประมาณในปี 2667 ก็คงไม่ต่างกันมากนัก ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการบริหารจัดการงบประมาณ
ส่วนกรณีที่ หลายฝ่ายเป็นห่วงเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ นั้น ส่วนตัวคิดว่าปัญหาการเมืองไทยคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มากนัก เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้หารือ วางแผนและเตรียมการรองรับเอาไว้หมดแล้ว ทั้งนี้ ในส่วนของ โครงการร่วมทุนระหว่างรัฐต่อรัฐจะไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน ส่วนการร่วมทุนของภาคเอกชน เชื่อว่าเอกชนเองก็คงมีการวางแผนงานและวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นกันแล้ว หากโอกาสการลงทุนยังคงมีอยู่ ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนงานที่มีร่วมกันอย่างแน่นอน
สำหรับ เศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน 2566 นั้น โฆษกกระทรวงการคลังและทีมผู้บริหาร สศค. แถลงว่า ยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนมิถุนายน 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 24.2 และ 3.2 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนมิถุนายน 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.7 จากระดับ 55.7 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และสูงสุดในรอบ 40 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น รวมถึงความกังวลจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนมิถุนายน 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -6.3
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนมิถุนายน 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -17.1 สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนมิถุนายน 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 3.1 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -1.8 ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 9.4 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -2.8
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนมิถุนายน 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 2.24 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 191.5 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 17.9 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนมิถุนายน 2566 จำนวน 19.2 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 22.1 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 14.7 สำหรับภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือนมิถุนายน 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 0.02 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 3.3 จากการขยายตัวของผลผลิตในหมวดปศุสัตว์และประมง ส่วนภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมิถุนายน 2566 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 94.1 จากระดับ 92.5 ในเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจาก อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 0.23 ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.32 ส่วน สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 61.63 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ ในเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 0.69 ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด สำหรับ เสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ในระดับสูงที่ 218.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ.