วันแรกคึกคัก! ปชช.ตบเท้าใช้สิทธิ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” โฆษกคลัง แจงสิทธิประโยชน์เพียบ
ประชาชน ตบเท้าจับจ่ายสินค้า อุปโภค บริโภค กันอย่างคึกคัก ในวันแรกของการใช้สิทธิ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ขณะที่ โฆษกกระทรวงคลัง แจ้งสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ทั้งวงเงินซื้อสินค้า 300บาท/เดือน การใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ 750บาท ได้รับอุดหนุน แก๊สหุงต้ม และ ไฟฟ้า ประปา
วันที่ 1 เม.ย.2566 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ตั้งแต่วันนี้ (1 เม.ย.) เป็นต้นไป ผู้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จภายในวันที่ 26 มี.ค. 2566 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 12,565,862 ราย สามารถใช้สิทธิสวัสดิการผ่านบัตรประจำตัวประชาชนได้แล้ว โดยมีรายละเอียดดังนี้
- วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และร้านอื่น ๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด จำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน ตั้งแต่เวลา 05.00 – 23.00 น.
- วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนด จำนวน 80 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ตั้งแต่เวลา 05.00 – 23.00 น.
- วงเงินรวมค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ จำนวน 750 บาทต่อคนต่อเดือน โดยสามารถใช้โดยสารได้กับระบบขนส่ง 8 ประเภท ได้แก่
(1) รถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
(2) รถบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)
(3) รถไฟฟ้า บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (Bangkok Mass Transit System : BTS) รถไฟฟ้ามหานคร (Metropolitan Rapid Transit : MRT) และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด
(4) รถไฟ โดยไม่จำกัดวงเงินตามประเภทรถ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมการเพิ่มเติมประเภทระบบขนส่งเพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ผู้มีสิทธิฯ ได้แก่ (1) รถเอกชนร่วม ขสมก. รถเอกชน และส่วนราชการกรุงเทพมหานคร (2) รถเอกชนร่วม บขส. และรถเอกชน (3) รถสองแถวรับจ้าง และ (4) เรือโดยสารสาธารณะ โดยหากดำเนินการแล้วเสร็จ จะแจ้งความคืบหน้าให้ประชาชนทราบต่อไป - มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า อุดหนุนค่าไฟฟ้าจำนวน 315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน กรณีที่ใช้ไฟฟ้าเกินวงเงินที่กำหนด ผู้มีสิทธิฯ จะเป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าทั้งหมด
- มาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำประปา อุดหนุนค่าน้ำประปาจำนวน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ส่วน กรณีที่ใช้น้ำประปาเกิน 100 บาท แต่ไม่เกิน 315 บาท ผู้มีสิทธิฯ ยังคงได้รับการสนับสนุนในวงเงิน 100 บาท และจะต้องชำระส่วนที่เกิน 100 บาท ด้วยตนเอง แต่หากผู้มีสิทธิฯ มีการใช้น้ำประปาเกิน 315 บาท ผู้มีสิทธิฯ จะเป็น
ผู้รับภาระค่าน้ำประปาทั้งหมด
ทั้งนี้ สำหรับมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ผู้มีสิทธิฯ ที่ประสงค์รับสิทธิในมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาจะต้องดำเนินการลงทะเบียนผ่านผู้ให้บริการดังกล่าวก่อนการเริ่มใช้สิทธิตามกรอบเวลาที่ผู้ให้บริการกำหนด ซึ่งกระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางจะชำระค่าบริการที่ผู้มีสิทธิฯ ได้ใช้บริการตามเงื่อนไขที่กำหนดให้แก่หน่วยงานผู้ให้บริการทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ สำนักงานการไฟฟ้านครหลวง สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ สำนักงานการประปานครหลวง และสำนักงานการประปาภูมิภาค โดยผู้มีสิทธิฯ ไม่ต้องสำรองเงินจ่ายค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาก่อนแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป็นครั้งแรกของประชาชนที่จะมีการใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐผ่านบัตรประจำตัวประชาชน ในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ก๊าซหุงต้ม และ ค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ ประกอบกับเป็นวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางได้เปิดให้บริการศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (Call Center) ในช่วงวันที่ 1 – 2 เมษายน 2566 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน กรณีผู้มีสิทธิฯ มีข้อสงสัยสามารถติดต่อ Call Center โทร. 02 109 2345
สำหรับผู้ประกอบการร้านธงฟ้าฯ และร้านอื่น ๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ขอให้เตรียมความพร้อมของอุปกรณ์เครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) และปรับปรุงแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ให้เป็นรุ่น (version) ปัจจุบันเพื่อรองรับการชำระค่าสินค้าและบริการผ่านบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิฯ โดยสามารถดำเนินการได้ ดังนี้
- ร้านค้าที่รับชำระค่าสินค้าและบริการ ผ่านเครื่อง EDC สามารถปรับปรุงระบบให้เป็น version ปัจจุบัน ได้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป
- ร้านค้าที่รับชำระค่าสินค้าและบริการ ผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” สามารถปรับปรุงระบบให้เป็น version ปัจจุบันได้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2566 เวลา 21.00 น. เป็นต้นไป
ทั้งนี้ หากร้านธงฟ้าฯ และร้านอื่น ๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด พบปัญหาในการปรับปรุงระบบให้เป็น version ปัจจุบัน หรือมีข้อสงสัยต้องการสอบถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อศูนย์บริการข้อมูลแก้ไขปัญหาร้านค้า (Merchant Call Center) โทร 02 111 1111 กด 2 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติม ถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับผู้ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ ตามโครงการฯ ที่ดำเนินการยืนยันตัวตนแล้ว โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 เวลา 13.00 น. พบว่า มีผู้ผ่านเกณฑ์ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จจำนวนทั้งสิ้น 12,830,846 ราย (ร้อยละ 87.90 ของจำนวนผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมดจำนวน 14,596,820 ราย) และจำนวนผู้ยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติตามโครงการฯ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 เวลา 13.00 น. มีจำนวนทั้งสิ้น 1,209,231 ราย
สำหรับผู้ผ่านเกณฑ์ที่ไม่ได้ดำเนินการยืนยันตัวตนภายในวันที่ 26 มีนาคม 2566 ยังคงสามารถยืนยันตัวตนได้ ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทยฯ) ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้ตามวันเวลาที่หน่วยงานกำหนด และสามารถเริ่มใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐได้ตามวันที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งในการยืนยันตัวตนผู้ผ่านเกณฑ์จะต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนอเนกประสงค์ (Smart Card) และ ต้องผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนกับธนาคารใดก็ได้ เนื่องจากการผูกบัญชีพร้อมเพย์ไว้ล่วงหน้าจะทำให้ ผู้ได้รับสิทธิโครงการฯ สะดวกในการรับสิทธิสวัสดิการ หากภาครัฐมีการให้สวัสดิการเป็นเงินโอนเข้าบัญชีในอนาคต
ทั้งนี้ ผู้ผ่านเกณฑ์ที่ยืนยันตัวตนไม่สำเร็จ เนื่องจากการตรวจสอบสถานะบัตรประจำตัวประชาชนไม่ผ่าน ซึ่งในกรณีนี้ขอให้ผู้ที่ยืนยันตัวตนไม่สำเร็จตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลได้ ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร และหากตรวจสอบและแก้ไขสถานะบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว ให้ดำเนินการยืนยันตัวตนอีกครั้ง นอกจากนี้ การยืนยันตัวตนไม่สำเร็จอาจเกิดจากกรณีเปรียบเทียบใบหน้าไม่ผ่าน ซึ่งผู้ที่ยืนยันตัวตนไม่สำเร็จ กรณีเปรียบเทียบใบหน้าไม่ผ่านขอให้ติดต่อธนาคารกรุงไทยเพื่อดำเนินการยืนยันตัวตนตามขั้นตอนของธนาคารกรุงไทยต่อไป โดยประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดโครงการฯ เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประชาชนจำนวนมาก เดินทางเข้าไปจับจ่าย ซื้อสินค้า อุปโภค และ บริโภค กันเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่เช้า ในร้านธงฟ้า และ ซีเจ ซูปเอร์มาร์เก็ต หลายแห่ง ในพื้นที่ กทม.และ ต่างจังหวัด โดย